ENVIRONMENT

ก.อุตฯ เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการไทยใช้กลยุทธ์ Green Ocean สู้ตลาดสากล
POSTED ON 22/01/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวความคิดเกี่ยวกับ "กลยุทธ์บลูโอเชี่ยน" (Blue Ocean Strategy) ได้จุดให้เกิดกระแสการตื่นตัวในเรื่องของการสร้างความต้องการสินค้าในตลาดที่ยังไร้ซึ่งการแข่งขัน ด้วยการทำให้สินค้าเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค โดยใช้แนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มจากนวัตกรรมแบบใหม่ๆ ควบคู่กับการลดต้นทุนการผลิตในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดคุณค่าต่อองค์กรและลูกค้า

 

แต่เมื่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป และก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพพลานามัย รวมไปถึงความปลอดภัยของสิ่งแวดล้อมโลก ทำให้เกิดความตระหนักในหลายประเทศ เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ไขความเสียหายที่อาจเกิดแก่สิ่งแวดล้อมโลกและแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของโลกต่อไป

 

ในอนาคตการปรับกระบวนการ และการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความแตกต่างหรือการสร้างสรรค์ให้มีเอกลักษณ์เฉพาะที่ให้สามารถดึงดูดใจกลุ่มตลาดเป้าหมายได้ด้วยนั้น แนวคิดนี้เรียกว่า "กลยุทธ์กรีนโอเชี่ยน" หรือ Green Ocean Strategy จึงกลายเป็นกลยุทธ์เชิงธุรกิจที่น่าจับตามอง

 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงร่วมมือกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดและนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ ส่งเสริมให้สถานประกอบการทั่วประเทศใส่ใจในการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวได้กำหนดการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ ได้แก่

 

ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ ความมุ่งมั่นที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน

 

ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้

 

ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตามประเมินผลและทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นที่ยอมรับ และการรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ

 

ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรให้ความร่วมมือร่วมใจ ดำเนินงานอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้านของการประกอบกิจการ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

 

ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การแสดงถึงการขยายเครือข่ายตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเข้าสู่กระบวนการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

 

โดยช่วงตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีสถานประกอบการเข้าร่วมเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวแล้วกว่า 11,375 ราย แบ่งเป็น 5 ระดับ ดังนี้ ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว จำนวน 6,477 ราย ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว จำนวน 2,713 ราย ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว จำนวน 2,155 ราย และยังมีโรงงานอุตสาหกรรมที่ผ่านการประเมิน ได้รับการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว จำนวน 30 ราย นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะยกระดับสถานประกอบการสู่ระดับที่ 5 คือ เครือข่ายสีเขียว ให้ได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2557

 

ทั้งนี้ การมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมถือเป็นหัวใจของโครงการต่างๆ ที่ต้องการขับเคลื่อนให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีความสอดคล้องกับศักยภาพและความเป็นไปได้ของระบบนิเวศ เช่น การอนุรักษ์พลังงานในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานให้คุ้มค่าโดยใช้หลัก 3R (Reuse, Reduce, Recycle) การออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์สิ่งแวดล้อม (Eco Design หรือ Eco Product) การให้การรับรองผลิตภัณฑ์ฉลากเขียว (Green Label หรือ Eco-Label) การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ (LCI-LCA) การลดมลพิษ และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

 

ตลอดระยะเวลาการดำเนินงานด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว มีการประเมินผลการดำเนินงาน โดยหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมพบว่า สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน วัดผลสัมฤทธิ์ได้จากการลดข้อร้องเรียนจากผลกระทบจากการประกอบกิจการโรงงาน และลดความเสี่ยงในการรับผิดชอบในอนาคต เกิดการสร้างงานและจ้างงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น สร้างความเชื่อใจในการปฏิบัติงานให้พนักงานว่าอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน ประหยัดต้นทุน สร้างโอกาสในการแข่งขัน โดยเฉพาะการแข่งขันในตลาดยุโรปที่เน้นส่งเสริมสินค้าที่ผ่านกระบวนการผลิตแบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 

นอกจากนี้ ในปี 2557 ยังส่งเสริมกลยุทธ์ Green Ocean อย่างเข้มข้นขึ้น ซึ่งจะดำเนินงานควบคู่ไปกับการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวใน 5 ระดับ โดยตั้งเป้าให้เป็นกระบวนการในการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งคำนึงถึงต้นทุนที่จะเกิดขึ้นเป็นหัวใจสำคัญด้วย และจะเกิดประโยชน์กับทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

 

นอกจากจะเป็นโอกาสในการสร้างงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เรียกว่า Green Job แล้ว ยังเป็นโอกาสในการสร้างบุคลากรเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปด้วย