ENVIRONMENT

กฎหมายสิ่งแวดล้อมสหรัฐฯ เข้ม ทำโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจต้องปิดตัวกว่า 24 แห่ง ภายในทศวรรษนี้
POSTED ON 14/01/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - เป็นเวลาหลายทศวรรษมาแล้วที่รัฐบาลสหรัฐฯ มีมาตรการควบคุมการสร้างมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งสำนักงานป้องกันสิ่งแวดล้อม หรือ อีพีเอ (Environment Protection Authority : EPA) ขึ้นมา ทั้งยังมีกฎระเบียบจากรัฐบาลกลางที่คอยควบคุมการปล่อยก๊าซพิษจากโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าซึ่งได้ชื่อว่าเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมลพิษทางอากาศเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐอเมริกา

 

ความพยายามในช่วงต้นๆของอีพีเอมีความก้าวหน้าที่สำคัญ เพราะนับตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1970 ซึ่งเป็นช่วงที่สถิติชี้ว่าการปล่อยก๊าซพิษสร้างมลพิษทางอากาศพุ่งถึงระดับสูงสุด อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าในสหรัฐฯ ได้ลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษหลักๆ 2 ชนิด ได้แก่ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ตัวสร้างฝนกรด ลงได้มากกว่า 80 % และไนโตรเจนออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวก่อหมอกควันพิษ (smog) ลงมากกว่า 75% นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าพลังถ่านหินยังลดการปล่อยเถ้าถ่านหินสู่อากาศลงได้มาก แม้ว่าจะยังมีการเผาถ่านหินเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าในปริมาณมาก

 

ปัจจุบันทั้งรัฐบาลสหรัฐฯ และบรรดาโรงงานผู้ผลิตกระแสไฟฟ้ากำลังก้าวเข้าสู่อีกขั้นของความท้าทายที่ยากขึ้น นั่นคือการลดการปล่อยมลพิษที่มองเห็นผลกระทบได้ยากกว่า 2 ตัวแรกที่กล่าวมา ไม่ว่าจะเป็นปรอทหรือก๊าซเรือนกระจก (อาทิ คาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซมีเทน)

 

เป็นที่คาดหมายกันว่า ในช่วงทศวรรษข้างหน้านี้ จะมีโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าพลังถ่านหินในสหรัฐอเมริกา ถูกปิดตัวลงจำนวนมากกว่า 24 แห่ง เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นการไม่คุ้มค่าการลงทุนที่จะปรับเปลี่ยนเครื่องจักรกลที่มีอยู่เดิมให้ได้มาตรฐานตามกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ

 

 

นายเดวิด ฮอว์คกิ้นส์ ผู้อำนวยการโครงการด้านสภาวะอากาศของสภาการป้องกันทรัพยากรธรรมชาติของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนสนับสนุนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความเห็นว่า กฎระเบียบที่มีอยู่เป็นเสมือนคำสั่งห้ามโงหัวสำหรับโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเลยทีเดียว แต่กฎระเบียบก็ไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้เราจะได้เห็นโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินต้องปิดตัวลงในอนาคต อีกเหตุผลนั้นได้แก่การที่นับจากปี 2552 เป็นต้นมา ก๊าซธรรมชาติมีราคาลดลงอย่างมากในสหรัฐอเมริกา และก๊าซธรรมชาติก็เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถ่านหินประมาณครึ่งหนึ่ง

 

กฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมการสร้างมลพิษทางอากาศของสหรัฐฯ สามารถย้อนประวัติไปได้ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ.2491 ซึ่งในช่วงเวลานั้นมลพิษทางอากาศในเมืองโดโนรา ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมคร่าชีวิตประชาชนไป 20 คน และอีกหลายพันคนเจ็บป่วยจากการสูดหมอกควันพิษ เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดจากภาคอุตสาหกรรมในเมืองรวมถึงโรงงานถลุงสังกะสี ต่อมาในปี พ.ศ.2509 ยังมีข่าวภาวะหมอกควันพิษปกคลุมมหานครนิวยอร์กในช่วงวันขอบคุณพระเจ้าทำให้มีผู้เสียชีวิตอีกด้วย

 

ดังนั้น ในปี พ.ศ.2514 สภาคองเกรสของสหรัฐฯ จึงได้ผ่านร่างกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศ หรือ Clean Air Act ออกมาบังคับใช้ และ 4 ทศวรรษนับจากนั้นเป็นต้นมา โรงผลิตกระแสไฟฟ้าพลังถ่านหินของสหรัฐฯก็สามารถลดปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยออกสู่อากาศลงได้มาก โดยมีการทุ่มทุนหลายพันล้านดอลลาร์ยกระดับเทคโนโลยีโรงงานและมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต โดยหันไปใช้ถ่านหินชนิดที่สร้างก๊าซซัลเฟอร์น้อยลง

 

ในยุคอดีต อีพีเอเน้นลดการสร้างก๊าซพิษทางอากาศของบรรดาโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองใหญ่ ซึ่งสะท้อนความคิดหลักๆ ในช่วงเวลานั้นว่า เรื่องของมลพิษทางอากาศนั้นเป็นปัญหาของสังคมเมือง ด้าน นายจอห์น โคกายต์ ผู้อำนวยการนโยบายสภาวะอากาศของเซียร่า คลับ องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมที่ทรงอิทธิพลในสหรัฐฯ กล่าวว่า "ก่อนหน้าที่จะมีกฎหมายควบคุมคุณภาพอากาศปี พ.ศ.2514 เรายังไม่มีอุปกรณ์ควบคุมมลพิษทางอากาศอย่างจริงจัง ด้วยเหตุดังกล่าว อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงเวลานั้นจึงแย้งว่า พวกเขาไม่สามารถปรับปรุงโรงงานให้ได้ตามที่กฎหมายระบุ และถ้าจะทำก็ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่สุดท้ายเมื่อเวลาผ่านไป อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้ามีการปรับตัวขนานใหญ่และสร้างความก้าวหน้าในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซพิษสู่อากาศได้มาก"

 

การบังคับใช้กฎหมายในช่วงระยะหลังๆ จึงพุ่งเป้าไปที่การควบคุมมลพิษทางอากาศที่แพร่กระจายข้ามรัฐรวมไปถึงการลดปริมาณสารพิษอื่นๆ ที่แขวนลอยในอากาศ เช่น ปรอทและสารหนู กฎหมายใหม่ว่าด้วยเรื่องการควบคุมสารปรอทในอากาศจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปีหน้า (พ.ศ.2558) โดยตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยสารพิษดังกล่าวลงถึง 90% ในระยะไม่กี่ปีข้างหน้า และขณะเดียวกันก็จะส่งผลให้ต้องมีการปิดโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินลงหลายแห่งทั่วประเทศ

 

นายนิค เอกิ้นส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท อเมริกัน อิเล็กทริค พาวเวอร์ฯ ซึ่งมีโรงไฟฟ้าอยู่ใน 11 รัฐของสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เพื่อปรับปรุงมาตรฐานโรงงานให้สอดคล้องกับกฎหมายลดการปล่อยสารปรอทสู่อากาศฉบับใหม่ บริษัทฯ จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนระหว่าง 3.5-4 พันล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทฯ ก็ลงทุนไปมากแล้ว

 

ด้านอีพีเอเองตอนนี้หันไปเน้นการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ มากยิ่งขึ้น โดยในปี 2556 ได้มีการนำเสนอมาตรฐานใหม่ซึ่งจะทำให้การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหินแบบเดิมๆ เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป เป็นที่คาดหมายว่า ในปีหน้า (พ.ศ.2558) อีพีเอจะยื่นเรื่องเสนอกฎระเบียบชุดใหม่ครอบคลุมโรงงานถ่านหินที่มีอยู่ในปัจจุบัน และจะเสนอสรุปร่างกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังปี พ.ศ.2563

 

ทั้งนี้ ความพยายามควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หลังกระบวนการเผาถ่านหินด้วยการใช้เครื่องแยกก๊าซยังคงเป็นเรื่องยุ่งยาก ในการทดสอบพบว่า เครื่องแยกก๊าซต้องใช้พลังงานไฟฟ้าสูงมาก ส่งผลให้โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าได้ลดลง นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาทางทำให้เครื่องแยกก๊าซกินไฟน้อยลงครึ่งหนึ่ง อีกวิธีการหนึ่งที่พวกเขากำลังทดลองอยู่คือ การทำให้ถ่านหินสะอาดก่อนกระบวนการจุดระเบิด โดยการทำให้มันกลายสภาพเป็นก๊าซติดไฟแล้วก็แยกส่วนที่เป็นก๊าซพิษออกมา

 

ทั้งนี้ บริษัท ซะเทิร์นฯ ในเมืองแอตแลนตา กำลังก่อสร้างโรงผลิตกระแสไฟฟ้าที่สามารถทำให้ถ่านหินกลายเป็นก๊าซ และยังสามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ 65% ที่เกิดจากการผลิตอีกด้วย ขณะนี้การก่อสร้างโรงงานดังกล่าวดำเนินไปได้เกือบ 50% แล้ว แต่นั่นก็หมายถึงการลงทุนกว่า 5.24 พันล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นการลงทุนสร้างโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่แพงที่สุดโครงการหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ซึ่งตัวเลขลงทุนสูงขนาดนี้นับเป็นอุปสรรคอย่างหนึ่งสำหรับการปรับปรุงมาตรฐานโรงงานให้สอดคล้องกับกฎหมายใหม่

 

อย่างไรก็ตาม นายทอม แฟนนิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของซะเทิร์น เปิดเผยว่า มีหลายประเทศรวมทั้งจีน ปากีสถาน อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีถ่านหินมาก ได้แสดงความสนใจในเทคโนโลยีของบริษัท ซึ่งนั่นก็นับเป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าที่กำลังมุ่งหน้าสู่ทิศทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น