ENVIRONMENT

บ้านปู นำระบบ SAP มาใช้ แก้ปัญหาน้ำเหมืองเป็นกรด
POSTED ON 14/01/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - การขุดถ่านหินเพื่อนำมาเป็นพลังงานหลักให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ ดูท่าจะเฟื่องฟูมากขึ้น โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการรั่วไหลกัมมันตภาพรังสีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ที่ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี 2011 ทำให้หลายประเทศปฏิเสธที่จะใช้พลังงานจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และหันมาพึ่งพิงเชื้อเพลิงจากถ่านหินในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากขึ้น แม้ว่าการใช้ถ่านหินจะมีปัญหาคาใจประชาชนในเรื่องผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรงก็ตาม

 

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นธุรกิจทำเหมืองที่ยาวนานถึง 30 ปี เหมืองบ่อแรกของบริษัทนั้นคือเหมืองลำพูน ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านปู ต.ลี้ จ.ลำพูน กำเนิดขึ้นครั้งแรกในปี 2526 และบ่อเหมืองแห่งนี้ได้ปิดตัวลงในปี 2548 แต่ล่าสุดเจ้าของกิจการ นายชนินทร์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทบ้านปูฯ ได้ตัดสินใจยื่นขอสัมปทานขุดลิกไนต์ ถ่านหินตรงบริเวณเหมืองแห่งนี้ขึ้นอีกครั้ง จุดประสงค์หลักไม่ได้เพียงแค่หวังจะได้ถ่านหินที่สามารถขุดได้อีกประมาณ 1 ล้านตันมาขาย แต่กลับเป็นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเหมืองแห่งนี้ โดยเฉพาะสภาพของน้ำที่เป็นกรด ที่ต้องได้รับการบำบัดอย่างดีก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติ

 

ในความพยายามแก้ปัญหาน้ำเหมืองเป็นกรดของบริษัท บ้านปูฯ นำไปสู่การคิดค้นวิธีการใหม่ จนทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศในปี 2556 จากโครงการ Thailand Coal Awards 2013 ประเภท Special Submission ที่จัดโดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ในบทความชื่อ “การแก้ไขปัญหาน้ำที่มีสภาพเป็นกรดอย่างยั่งยืน (Remedy of Acid Mine Drainage (AMD) in a sustainable way) หรือ Successive Alkalinity Producing (SAP)" ซึ่งเป็นการทำระบบบำบัดน้ำแบบชีวภาพด้วยหินปูนแบบไร้อากาศ และยังได้รับรางวัล ASEAN Coal Award 2013 จากศูนย์พลังงานแห่งอาเซียน (ASEAN Centre for Energy) อีกด้วย

 

เหมืองลำพูน ประกอบด้วย 3 เหมืองย่อย คือ เหมืองบ้านปู (BP-1) เหมืองบ้านโฮ่ง (BP-2 ) และเหมืองแม่ลอง (BP-3 ) มีพื้นที่รวมกัน 4,707 ไร่ ก่อนหน้านี้ หลังปิดเหมืองถ่านหินที่ลำพูนไปแล้ว บริษัทบ้านปูฯ ได้พยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่เกิดจากกรดจากการขุดถ่านหิน

 

นายชนินทร์เล่าว่า ตลอดการดำเนินการ บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด โดยยึดตามหลักกฎหมายและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด จนมี "แผนแม่บทด้านสิ่งแวดล้อม" และ "แผนการฟื้นฟูสภาพเมือง" โดยร่วมมือกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

 

ส่วนปัญหาหลักด้านสิ่งแวดล้อมของเหมืองลำพูนนั้น มี 2 ประการคือ มีน้ำเสียที่เกิดจากบ่อเหมือง BP-2 และน้ำเสียจากกระบวนการล้างถ่านหิน บริษัทได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด แม้เหมืองจะปิดตัวไปเมื่อประมาณ 8 ปีที่แล้ว แต่ความพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมยังไม่จบสิ้น

 

น้ำที่มีสภาพเป็นกรด (Acid Mine Drainage - AMD) หมายถึง น้ำที่ระบายออกจากบริเวณโครงการเหมืองแร่ที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งมีค่าความเป็นกรด-ด่าง (pH) และยังอาจประกอบด้วยโลหะหนักต่างๆ เช่น อะลูมิเนียม (Al), สังกะสี (Zn), สารหนู(As) และแมงกานีส (Mn) ละลายอยู่ในปริมาณสูง โดยปกติการเกิดน้ำเหมืองเป็นกรดสามารถเกิดขึ้นได้เองอย่างช้าๆ เนื่องจากการสึกกร่อนผุพังตามธรรมชาติของชั้นดินและหิน แต่อัตราการเกิดน้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรดนี้ จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อชั้นดินและหินซึ่งมีแร่ซัลไฟด์เป็นองค์ประกอบได้รับการรบกวน

 

การแก้ไขปัญหาระยะแรก ทําการสูบน้ำที่มีสภาพเป็นกรดในบ่อเหมืองขึ้นมาล้างถ่านหินปนดินที่กองไว้ประมาณ 1 ล้านตัน ได้ถ่านสําเร็จรูป 0.25 ล้านตัน และทําการศึกษาการบําบัดน้ำจากโรงล้างถ่านหินด้วยวิธีเคมีและแบบชีววิธี (Active and Passive Treatment)

 

แต่วิธีการนี้พบว่า พอผ่านไปสักระยะและเมื่อไม่ได้เติมผงปูนขาวลงไปในบ่อน้ำ สภาพน้ำและดินก็จะเป็นกรดเหมือนเดิม ทำให้ต้องใช้ปริมาณปูนขาวจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง บริษัทหาทางแก้ปัญหาจนนำไปสู่การคิดค้นระบบบำบัดแบบชีวภาพ ด้วยหินปูนแบบไร้อากาศหรือ SAP ขึ้นมาในที่สุด และให้ผลที่น่าพอใจอย่างยิ่ง

 

"สำหรับระบบ SAP นี้มีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ช่วยคิด และเป็นผลงานการศึกษาของวิศวกรในบริษัทบ้านปูฯ เราภูมิใจมาก เพราะแนวทางนี้ ประเทศในแถบอาเซียนก็ยอมรับด้วย และแนวทางแก้ปัญหานี้ เรายังนำไปใช้ในประเทศที่เราเข้าไปลงทุน ไม่ว่า ลาว อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และมองโกลเลีย" นายชนิทร์ เผย

 

บริษัทบ้านปูฯ ได้นำวิธีการ SAP มาใช้ในปี 2554 เริ่มจากมีการแบ่งแยกดินที่เป็นกรดออกจากดินปกติ และนำดินที่เป็นกรดฝังไว้ในบ่อเหมืองเดิม วิธีการนี้จะทำให้ปูนขาวสามารถบำบัดน้ำที่มีสภาพเป็นกรดให้ดีขึ้น และช่วยลดปริมาณการใช้ปูนขาวจากวิธีเดิมได้ถึง 50% เพราะปูนที่ใช้ในระบบ SAP จะคงอยู่นานถึง 10 ปี

 

ส่วนบ่อบำบัดตามระบบ SAP ออกแบบเป็น 3 บ่อ อยู่ในพื้นที่ต่างระดับลดหลั่น เหมือนขั้นบันได ในแต่ละบ่อประกอบด้วย 3 ชั้น ดังนี้ ชั้นล่างก้นบ่อของบ่อบำบัดเป็นรางหินปูน ซึ่งมีพลาสติกปูทับไว้ก่อนแล้วเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำที่มีสภาพความเป็นกรดไหลออกไปสู่ชั้นดินภายนอก หลังจากนั้นชั้นกลางปิดทับด้วยสารอินทรีย์ เช่น ฟางข้าว หรือปุ๋ยหมัก หนาประมาณ 40 เซนติเมตร และมีน้ำปกติที่ไม่มีค่าความเป็นกรดหรือด่าง หนาประมาณ 1 เมตร อยู่ชั้นบนสุด

 

ชั้นของน้ำและสารอินทรีย์ จะทำหน้าที่เป็นตัวป้องกัน หรือตัวปิดไม่ให้อากาศลงไปสัมผัสกับชั้นหินรางปูนที่อยู่ด้านล่าง ส่วนการบำบัดน้ำที่มีสภาพเป็นกรดจากบ่อเหมืองจะถูกสูบด้วยท่อส่งตรงไปที่บ่อระบบ SAP ไปที่รางหินปูนของบ่อแรก โดยรางหินปูนจะทำหน้าที่เพิ่มความเป็นด่างของน้ำที่มีสภาพเป็นกรดโดยไม่สัมผัสกับอากาศข้างนอก น้ำที่มีสภาพเป็นกรดจะไหลผ่านรางหินปูนของบ่อแรกไปจนถึงบ่อที่ 3 โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก หลังจากนั้น น้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบ SAP จะไหลมาที่ระบบบำบัดด้วยวิธีเคมี หรือการเติมปูนขาว และระบบบำบัดน้ำพื้นที่ชุ่มน้ำ ก่อนปล่อยออกสู่ธรรมชาติต่อไป

 

การแก้ปัญหาด้วยวิธี SAP นำมาซึ่งการตัดสินใจขุดเหมืองลำพูนอีกครั้ง ชนินทร์กล่าวว่า เพราะเหมืองแห่งนี้ยังมีถ่านหินลิกไนต์ให้ขุดได้อีก 1 ล้านตัน ซึ่งดินที่ได้จากเหมืองบ่อใหม่จะถูกนำมาใช้ถมทับบ่อเหมืองเก่าที่มีสภาพเป็นกรด และขณะนี้เหมืองแห่งใหม่กำลังอยู่ระหว่างการขอสัมปทานและผ่านขั้นตอนการตรวจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ

 

"เราต้องเปิดเหมืองขึ้นมาใหม่ โดยไม่ได้หวังผลเรื่องขายถ่านหินได้เท่าไหร่นัก เพราะวิธีการแก้ปัญหาแบบ SAP ต้องหาดินมาถมบ่อจำนวนมาก ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ถ้าต้องไปหาดินจากแหล่งอื่นๆ ส่วนดินที่ขุดจากบ่อเหมืองใหม่มีต้นทุนตกคิวละ 50 บาท คูณด้วยขนาดพื้นที่บ่อเหมืองที่ต้องถม คิดเป็นเงินประมาณ 800 ล้านบาท ยังไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆ การบริหารจัดการ" นายชนินทร์ กล่าว

 

เจ้าหน้าที่รายหนึ่งประจำการที่เหมืองลำพูนอธิบายเพิ่มเติมว่า วิธีการแบบ SAP เหมือนการทำซาลาเปา ดินและน้ำที่เป็นกรดจะถูกใส่ไว้ตรงกลางเหมือนไส้ซาลาเปา ห่อหุ้มด้วยดินดีที่ไม่มีสภาพเป็นกรด อีกทั้งบริเวณรอบข้างของไส้ดินที่เป็นกรดจะถูกบดอัดด้วยดินละเอียด เพื่อไม่ให้น้ำหรือแร่ธาตุอื่นๆ เข้าไปทำปฏิกิริยากับดินที่เป็นกรด จนเกิดสภาพกรดอีก ส่วนด้านบนจะมีการเติมปุ๋ยหมัก ปลูกต้นไม้ ซึ่งเชื่อว่านานๆ ไปหลายปี สภาพธรรมชาติของต้นไม้ที่ปลูกจะค่อยๆ แปรสภาพดินกรดให้กลับมาสู่สภาพปกติได้ในที่สุด

 

ส่วน Wetland ที่ใช้ควบคู่กับระบบ SAP เป็นขั้นตอนการบำบัดแบบชีวภาพ ด้วยการสร้างบ่อพักน้ำที่ทำหน้าที่บำบัดสภาพเป็นกรด ด้วยการเติมปูนขาวลงในน้ำ ในปริมาณที่มากจนน้ำเปลี่ยนจากสภาพน้ำเป็นกรดที่มีค่า ph ประมาณ 3-4 มาเป็นค่า ph 7-8 ซึ่งหมายถึงมีค่าความเป็นด่างค่อนข้างสูง หลังจากนั้นจะปล่อยน้ำสู่พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือ Wet Land ที่สร้างเป็นแปลงๆ บริเวณนี้จะปลูกพืชที่มีคุณสมบัติดูดซับโลหะหนัก ที่ยังอาจหลงเหลือและปรับสภาพความเป็นกรด เป็นด่างต่างๆ โดยมีต้นธูปฤาษีและต้นกกเป็นหลัก ซึ่งธรรมชาติจะค่อยๆ ปรับสภาพน้ำให้มีสภาพปกติในที่สุด หลังจากนั้นจึงปล่อยน้ำออกสู่ธรรมชาติ

 

"เราจะปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วในช่วงหน้าแล้ง เพื่อช่วยเหลือให้ชาวบ้านรอบๆ เหมืองได้มีน้ำกินน้ำใช้ เพราะหน้าแล้งทุกปี ที่นี่น้ำจะไม่มี น้ำแห้งขอด แต่เราปล่อยได้ในปริมาณแค่ 1 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ขณะที่น้ำที่เรานำมาบำบัดจะมีปริมาณประมาณ 5-6 ล้านลูกบาศก์เมตร" เจ้าหน้าที่ประจำการเหมืองลำพูน กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนพื้นที่เหมืองอื่นๆ ที่บ้านปูเข้าไปทำสัมปทานไม่มีสภาพเป็นกรดเหมือนเหมืองที่ลำพูน