ENVIRONMENT

ศูนย์ความเป็นเลิศฯของ GE ช่วยลดการปล่อย CO2 ของโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ถึง 11%
POSTED ON 09/03/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

จีอี (GE) เปิดศูนย์ความเป็นเลิศ (Center of Excellence) ด้านประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าระดับโลกแห่งใหม่ โดยมีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาในธุรกิจพลังงานมารวมตัวกันเพื่อนำเสนอแนวทางโซลูชั่นครบวงจรในการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินของโลกทั้งแห่งใหม่และที่มีอยู่เดิม เพื่อลดการปล่อยมลพิษ

 

โดยสำนักงานใหญ่ของศูนย์ความเป็นเลิศฯแห่งใหม่นี้ตั้งอยู่ในเมืองบาเดน ประเทศเยอรมนี โดยมุ่งมั่นที่จะสร้างโซลูชั่นที่ครบวงจร พร้อมส่งมอบวิสัยทัศน์และสร้างภาพรวมในระดับโลก ซึ่งทีมงานในภูมิภาคตั้งใจที่จะสร้างสมรรถนะเชิงวิศวกรรมและการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า

 

นายไมเคิล เร็คสไตเนอร์ รองประธานสายผลิตภัณฑ์สำหรับบริการผลิตไฟฟ้า ในฐานะผู้สนับสนุนระดับบริหารของศูนย์ความเป็นเลิศระดับโลก กล่าวว่า "ด้วยประสบการณ์ที่หลากหลายของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญทั่วทุกสาขาธุรกิจจากแผนกบริการผลิตไฟฟ้าของจีอี แผนกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ศูนย์วิจัยระดับโลก และแผนกปฏิบัติงานส่วนกลาง จีอีกำลังนำเสนอแนวทางการปฏิบัติเพื่อให้โรงไฟฟ้าใหม่และที่มีอยู่เดิมได้มาตรฐานในเรื่องปล่อยมลพิษและมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น"

 

ศูนย์ฯดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาล่าสุดของจีอีที่พบว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินของโลกรวมกันจะลดลง 11% หากมีการนำโซลูชั่นด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีอยู่มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ จากผลการศึกษาดังกล่าว ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจ่ายกระแสไฟฟ้าทั่วโลกคิดเป็นปริมาณร้อยละ 40 โดยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นเกือบ 75% ของภาคการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดเนื่องจากโรงไฟฟ้าจำนวนมากถูกใช้งานมานานและไม่มีประสิทธิภาพ

 

''ฐานการติดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินจะไม่อันตรธานหายไปในชั่วข้ามคืน และในขณะที่จีอีให้การสนับสนุนการใช้แหล่งพลังงานทดแทนอย่างเต็มที่ เรายังจำเป็นต้องรับมือกับความต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปฏิบัติการอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพเพื่อลดการปล่อยมลพิษ และขณะเดียวกันต้องทำให้มั่นใจว่าเราจัดหาพลังงานที่เสถียรให้แก่ผู้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งเรามีชุดเทคโนโลยีด้านการอัพเกรดโรงไฟฟ้าถ่านหินเทคโนโลยีไอน้ำและชุดเทคโนโลยีการจัดการการปล่อยมลพิษ เมื่อผสมผสานกับเทคโนโลยีดิจิตอลของเรา จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพโดยเฉลี่ยได้ 4%" นายเร็คสไตเนอร์ กล่าว

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินใหม่ล่าสุดที่สร้างขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีอัลทรา-ซูเปอร์คริติคัล (Ultra-Supercritical) ของจีอีสามารถส่งมอบประสิทธิภาพในอัตราสูงถึง 49% สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ระดับ 33% และประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นทุก ๆ เปอร์เซ็นต์ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตลอดอายุการใช้งานของโรงไฟฟ้า ในขณะที่สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2%

 

โรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทันสมัยต้องอาศัยเครือข่ายอันซับซ้อนของเซ็นเซอร์ ตัวควบคุมแบบดิจิตอล และคอมพิวเตอร์ควบคุมการปฏิบัติงานของระบบย่อยต่าง ๆ ภายในโรงไฟฟ้า สมรรถนะด้านดิจิตอลของจีอีและระบบการควบคุมคุณภาพอากาศของจีอีสามารถช่วยให้การปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศลดลงไปอีก ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องหรือกระทั่งยอดเยี่ยมเกินเกณฑ์มาตรฐานที่เข้มงวดที่สุดของโลก

 

นอกจากนี้ ศูนย์ฯดังกล่าวจะจัดชุดโซลูชั่นด้านการเงินเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถพัฒนาโครงการที่สร้างการเปลี่ยนแปลงไปสู่การผสมผสานแหล่งพลังงานสำหรับการผลิตไฟฟ้า ที่มุ่งลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และนอกเหนือจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าระดับโลก องค์กรในภูมิภาคจะช่วยให้คำตอบแบบเรียลไทม์ (real-time) เพื่อตอบสนองความต้องการในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทีมงานศูนย์ความเป็นเลิศระดับภูมิภาคทีมแรกได้เริ่มดำเนินงานในอินเดียแล้ว

 

นายอโศก กาเนซาน กรรมการผู้จัดการบริษัทจีอี พาวเวอร์ อินเดีย จำกัด ในฐานะหัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า กล่าวว่า "อินเดียเป็นเป้าหมายเดิมของเราเนื่องจากการคาดการณ์ด้านความต้องการใช้พลังงานของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ซึ่งในอินเดียประสิทธิภาพโดยรวมของกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ยังค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีการใช้งานมานาน ทีมงานในภูมิภาคของเรามีความพร้อมที่จะแสดงให้เห็นว่าศูนย์ความเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้ามีศักยภาพเต็มที่ในการช่วยให้โรงไฟฟ้าถ่านหินของอินเดียเดินเครื่องอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดการปล่อยมลพิษลง"

 

โครงการแรกในอินเดียที่แสดงถึงความมุ่งมั่นของศูนย์ความเป็นเลิศด้านประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าของจีอีดำเนินงานร่วมกับ NTPC Limited หน่วยงานสาธารณูปโภคที่ใหญ่ที่สุดของอินเดีย ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้เลือกจีอีให้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพกังหันไอน้ำกำลังการผลิต 200 เมกะวัตต์ ชนิด Ansaldo จำนวน 3 เครื่องที่ติดตั้งมานานกว่า 30 ปี ณ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนรามากันดัม ในรัฐเตลังคานา จีอีจะช่วย NTPC ในการปรับปรุงประสิทธิภาพของกังหันไอน้ำแต่ละเครื่องให้เพิ่มขึ้นถึง 14%  เพิ่มกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าขึ้นประมาณ 30 เมกะวัตต์ รวมทั้งลดคาร์บอนฟุตพรินท์ลงประมาณ 5%

 

โครงการดังกล่าวยังได้ใช้โซลูชั่น Enhanced Steam Path (ESP) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น ESP เป็นโซลูชั่นที่ได้พัฒนาขึ้นโดยผสมผสานเทคโนโลยีของจีอีและอัลสตอม (Alstom) อันเป็นผลมาจากการควบรวมของทั้งสองบริษัท