ENVIRONMENT

รายงานชี้ ประชาชนรอบเหมืองอัครามีโลหะหนักในเลือดมากกว่ามาตรฐาน
POSTED ON 15/03/2559


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม 15 มี.ค.2559 - ในการประชุมคณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2559 ที่ผ่านมา นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษฎี ผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร ได้เป็นประธานในการประชุม พร้อมรับรายงานผลการตรวจเลือดของชาวบ้านทั้ง 3 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ จำนวน 1,004 คน ซึ่งเป็นพื้นที่รอบเหมืองทองอัตรา จ.พิจิตร จาก นายสมิทธ ตุงคะสมิทธ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยรังสิต

 

โดยรายงานดังกล่าว ระบุว่า มีชาวบ้าน 41.83% ที่พบสารแมงกานีสในกระแสเลือดเกินกว่าค่ามาตรฐาน และมีอีก 19.52% ที่พบสารหนูเกินกว่าค่ามาตรฐาน แต่ลดลงต่ำกว่าปีที่ผ่านมา

 

นายสมิทธ กล่าวว่า ทีมงาน พญ.คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ และทีมจากคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ลงพื้นที่เจาะเลือดประชาชนรอบเหมืองทองอัครา เมื่อวันที่ 26-27 พ.ย.2557 เกือบ 700 ตัวอย่าง พบว่า ประชากร 349 คนมีสารโลหะหนักอยู่ในกระแสเลือด คือ แมงกานีส และสารหนู สูงมาก แต่ยังไม่สามารถตรวจพบสารไซยาไนด์ เนื่องจากไซยาไนด์สลายตัว ไม่สามารถตรวจในพื้นที่ได้ ต้องตรวจเฉพาะห้องแล็บของโรงพยาบาลเท่านั้น

 

ทั้งนี้ คณะเทคนิคการแพทย์ กับสถาบันนิติเวชสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ จะประชุมและวิเคราะห์ผลตรวจเลือดที่มีสารโลหะหนักในเลือด 349 คนอย่างละเอียด และสรุปเพื่อร่วมกันหาทางออกต่อไป สำหรับสารโลหะหนักอย่างแมงกานีสและสารหนูพบมากในแร่ทองคำ แต่กลับกระจายสู่สิ่งแวดล้อม อาจเป็นเพราะการระเบิดหิน ทำให้ฟุ้งกระจายไปสู่แหล่งน้ำ พืชผักสวนครัว และบ่อน้ำตื้น ทำให้ประชาชนรอบเหมืองเรียกร้องไปยังหลายหน่วยงาน

 

จนถึงขณะนี้ บริษัท อัคราฯ ยังคงไม่ได้มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 หมวด 11/1 ความรับผิด มาตรา 131/1 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ถืออาชญาบัตร ประทานบัตร หรือใบอนุญาตอื่นใดตาม พ.ร.บ.นี้ ต้องรับผิดชอบในการกระทำของตนต่อความเสียหาย หรือความเดือดร้อนรำคาญใด อันเกิดขึ้นแก่บุคคลทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม จึงนำมาสู่การปิดเหมืองชั่วคราว แต่ทั้งนี้ คำสั่งให้เหมืองทองอัคราหยุดดำเนินกิจการ 30 วัน ได้เปิดช่องให้อุทธรณ์คำสั่งได้ภายใน 15 วัน ซึ่งล่าสุดทางบริษัทฯเตรียมที่จะยื่นร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอความคุ้มครองจากคำสั่งดังกล่าวแล้ว

 

ด้าน นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ได้แสดงความเห็นแย้งว่า นายสมิทธ ตุงคะสมิทธ ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ ขณะที่ทางผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร ได้สรุปในการประชุมว่า หลังจากนี้จะนำผลการตรวจส่งมอบให้คณะกรรมการ 5 ฝ่ายในกระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการพิจารณาและวิเคราะห์ต่อไปว่าข้อมูลดังกล่าวมีนัยที่เป็นผลกระทบต่อชาวบ้านอย่างไรหรือไม่ ส่วนระดับจังหวัดจะดำเนินการในมาตรการเยียวยาต่อไป

 

ด้าน นายสมชาย หาญหิรัญ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ในฐานะโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า คณะกรรมการชุดนี้เป็นคณะกรรมการระดับประเทศที่มีผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานร่วม ทั้งนี้ ยังไม่ได้สรุปว่าสาเหตุที่ประชาชนในพื้นที่มีสารโลหะหนักในกระแสเลือดเกินค่ามาตรฐานเกิดมาจากการทำเหมือง ซึ่งต้องใช้หลักวิทยาศาสตร์ตามมาตรฐานสากลในการพิสูจน์ เพราะจะต้องนำข้อมูลที่ได้ไปเปรียบเทียบกับข้อมูลช่วงก่อนการทำเหมือง แต่เนื่องจากไม่มีข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนในช่วงก่อนการทำเหมือง คณะกรรมการฯจึงมีแนวทางที่จะศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลในพื้นที่การทำเหมืองปัจจุบันกับพื้นที่เปรียบเทียบ (Reference area) ที่เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพแร่ทองคำแต่ยังไม่มีการทำเหมือง เช่น อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี เป็นต้น

 

ขณะที่ทางด้านพนักงานส่วนหนึ่งของเหมืองอัครา รวมถึงบริษัทรับเหมาในพื้นที่ และครอบครัวกว่า 100 คน ได้เข้ายื่นหนังสือเพื่อส่งถึง นางอรรชกา ศรีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม และ นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษฎี ผู้ว่าราชการ จ.พิจิตร เพื่อให้พิจารณาความเดือดร้อนของพนักงาน บริษัทรับเหมา และภาคเอกชนในพื้นที่รอบเหมือง โดยต้องการให้พิจารณาต่ออายุประทานบัตรให้แก่บริษัท อัคราฯ เป็นการเร่งด่วน เพราะหากล่าช้าอาจส่งผลให้เหมืองต้องปิดตัว ซึ่งมีผลต่อการจ้างงาน และภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ทันที

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics