ENVIRONMENT

มอบ 4 กระทรวงเร่งสรุปปัญหาเหมืองทองอัครา
POSTED ON 31/03/2559


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม 31 มี.ค.2559 - นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับตัวแทนจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ทั้ง 4 กระทรวงหลักและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสุขภาพของประชาชน คณะทำงานตรวจสอบและแก้ไขปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ให้เร่งติดตามผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่จากการทำเหมืองทองคำ หลังตรวจพบสารโลหะหนักในร่างกายเกินระดับมาตรฐาน และดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อหาข้อสรุปและแนวทางแก้ไขให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย คาดจะมีความชัดเจนในเดือน เม.ย.2559 นี้

 

โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามเรื่องภาคพื้นธรณี ซึ่งจะศึกษาและสำรวจองค์ประกอบทางเคมีของทรัพยากรแร่ต่างๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะติดตามรายงานข้อเท็จจริงผลการตรวจสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งรวบรวมข้อมูลทั้งหมดไปประกอบการพิจารณาหาแนวทางแก้ไข เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ

 

ในเบื้องต้นรัฐมนตรีว่าการของทั้ง 4 กระทรวง จะร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องของระบบน้ำอุปโภคบริโภคก่อน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนว่าได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะประชาชนในพื้นที่ใช้น้ำบาดาล และที่ผ่านมามีการปนเปื้อนของโลหะหนักในน้ำและผิวดินมากกว่าปกติ ซึ่งการประสานข้อมูลดังกล่าวจะมีความเกี่ยวโยงต่อการพิจารณาต่ออายุใบอนุญาตประทานบัตรเหมืองทองคำของบริษัท อัครา รีซร์สเซส จำกัด (มหาชน) ที่หมดอายุสัมปทานลงตั้งแต่ปี 2555 และใบอนุญาตโรงโลหกรรมที่จะหมดอายุในปีนี้ด้วย

 

ขณะที่ทางด้าน นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันว่าจะอนุญาตประทานบัตรหรือต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมให้แก่ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เนื่องจากเรื่องเหมืองทองคำถือเป็นเรื่องใหญ่ที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ และมีผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งหลังจากที่ กพร.ได้มีคำสั่งไปเมื่อช่วงเดือน ธ.ค.2558 ให้เหมืองแร่กว่า 200 แห่ง จากทั้งหมด 600 แห่งทั่วประเทศ ที่เข้าข่ายกระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อม ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 ไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาภายในระยะเวลา 30 วันนั้น จากการลงพื้นที่ตรวจติดตามซ้ำ (ตั้งแต่เดือน ม.ค.2559 ถึงปัจจุบัน) พบว่ามีเหมืองแร่ที่เข้าข่ายกระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมอีก 50 แห่ง ประกอบด้วยเหมืองแร่แห่งใหม่และแห่งเดิมที่เคยถูกคำสั่งให้ดำเนินการปรับปรุงไปแล้ว แต่กระทำความผิดด้านสิ่งแวดล้อมในส่วนอื่นเพิ่ม และส่วนใหญ่ยังคงเป็นเหมืองหินและเหมืองยิปซั่ม

 

"หากผู้ประกอบการสามารถปรับปรุงได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนด ก็จะไม่โดนปิด เพราะตามกระบวนการลงโทษนั้นหากเกิดขึ้นครั้งแรก คือ ตักเตือน ครั้งที่ 2 สั่งปรับปรุง 30 วัน ครั้งถัดไปสั่งปิดปรับปรุงชั่วคราวอีก 30 วัน หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จะยึดใบอนุญาตทันที ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผิดมักจะเป็นโรงแต่งแร่ของเหมืองรายเล็กๆ" นายชาติ กล่าว

 

ทั้งนี้ ตามบทลงโทษของร่าง พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. ...นั้น ได้เพิ่มโทษทางอาญาในเรื่องของโทษปรับให้สูงขึ้น 30 เท่า จากเดิมปรับเพียง 10,000 บาท ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 300,000 บาท ในกรณีที่กระทำผิดต่อเนื่องในความผิดที่ไม่ร้ายแรงจะมีโทษปรับ 500,000 บาทต่อวัน รวมถึงโทษทางปกครองหรือจำคุกแล้วแต่กรณี

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics