ENVIRONMENT

กรมโรงงานฯ ชี้ มี 15 จังหวัดเหมาะตั้งนิคมฯกำจัดกากอุตฯ
POSTED ON 14/01/2559


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม 14 ม.ค.2559 - นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า "กรอ.ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการกากอุตสาหกรรม ระยะ 5 ปี (พ.ศ.2558-2562) โดยการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมเพื่อรองรับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่เป็นอันตรายและไม่อันตรายในอีก 20 ปีข้างหน้า อีกทั้งเมื่อปีที่ผ่านมา กรอ.ยังได้ศึกษาพื้นที่รองรับกากอุตสาหกรรมใน 6 แห่ง ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จสิ้นแล้ว และจะนำเสนอ ครม. เพื่อรายงานความคืบหน้าภายในเดือน ม.ค.2559 นี้ต่อไป

 

จากการศึกษา พบว่า พื้นที่ที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในการตั้งเป็นนิคมอุตสาหกรรมรองรับการกำจัดกากอุตสาหกรรมมีทั้งหมด 15 จังหวัด กระจายอยู่ใน 6 ภูมิภาค ประกอบด้วย

 

● ภาคเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ ลำพูน และ ลำปาง ● ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา และ ขอนแก่น ● ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ได้แก่ ราชบุรี, ตาก และ กาญจนบุรี ● ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ สระบุรี และ สมุทรสาคร ● ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี, ปราจีนบุรี, ระยอง และ สระแก้ว ● ภาคใต้ 2 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช และ สงขลา

 

สำหรับการคัดเลือกพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่งนี้ ได้มีการพิจารณาจากพื้นที่ที่มีกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก มีปริมาณกากอุตสาหกรรมเพียงพอที่จะคุ้มค่าในการลงทุนกำจัดกาก และอยู่ในระยะทางที่ไม่ไกลจากแหล่งอุตสาหกรรม ทำให้ต้นทุนค่าขนส่งไม่แพงจนเกินไป

 

ขณะที่การลงทุนจัดตั้งนิคมฯนั้นได้ส่งผลการศึกษาไปให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จัดทำหลักเกณฑ์ในการเชิญชวนนักลงทุนที่สนใจให้เข้ามาลงทุน และการจัดหาสถานที่ตั้งนิคมฯไว้แล้ว โดยนิคมฯที่จัดตั้งนั้นจะเป็นลักษณะแบบครบวงจร ทั้งการกำจัดกา โรงงานรีไซเคิล รวมไปถึงการนำกากของเสียมาผลิตไฟฟ้า เป็นต้น

 

"ส่วนความคืบหน้าโครงการเตาเผาขยะร่วมกับองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม (เนโดะ) มูลค่าการลงทุน 1,800 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ผลการศึกษาถึงความคุ้มค่าและความเหมาะสมเสร็จสมบูรณ์แล้ว อีกทั้งยังได้หารือกับการนิคมอุตสาหกรรมฯเป็นที่เรียบร้อย โดยคาดว่าจะใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดสมุทรสาครเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว เนื่องจากมีความพร้อมและอยู่ใกล้กับแหล่งวัตถุดิบที่จะใช้กากอุตสาหกรรม 350 ตันต่อวัน และขยะชุมชน 150 ตันต่อวัน ผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 10 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเชิญชวนและคัดเลือกเอกชนที่จะมาเข้าร่วมโครงการประมาณ 9 ราย เพื่อร่วมทุนกับภาคเอกชนของญี่ปุ่น คาดว่าจะทราบผลประมาณกลางเดือน ม.ค.2559 นี้" นายพสุ กล่าว

 

ด้าน นายวีรพงศ์ ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า "ในการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากอุตสาหกรรมทั้ง 6 แห่งนั้น ทาง กนอ.อยู่ระหว่างการเตรียมการที่จะจัดทำแผนหรือหลักเกณฑ์ในการจัดตั้งนิคมฯ โดยเฉพาะการจัดหาที่ตั้งที่เหมาะสม ซึ่งในส่วนของการตั้งนิคมฯกำจัดกากในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกนั้น ทาง กนอ.ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเบื้องต้น (MOU) กับทาง บริษัท เบตเตอร์ เวิลด์กรีน จำกัด (มหาชน) หรือ BWG เพื่อศึกษาและพัฒนานิคมฯกำจัดกากแล้ว โดยได้มีการจัดตั้งคณะทำงานและรวบรวมพื้นที่ที่มีศักยภาพในการพัฒนาโครงการเพื่อศึกษาโครงการแล้ว"

 

ประเทศไทยมีปริมาณกากอุตสาหกรรมประมาณ 37.42 ล้านตันต่อปี แบ่งเป็นกากอันตราย 2.84 ล้านตันต่อปี และกากไม่อันตราย 34.57 ล้านตันต่อปี โดยปัจจุบันมีกากอันตรายที่เข้าสู่ระบบการกำจัดกากแล้วประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี ส่วนกากไม่อันตรายเข้าสู่ระบบประมาณ 25.75 ล้านตันต่อปี ซึ่งการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมกำจัดกากขึ้นมา เพื่อรองรับกับปริมาณกากอุตสาหกรรมที่มีเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics