ENVIRONMENT

อุตฯเร่งเครื่องหนุนผู้ประกอบการยกระดับสู่โรงงานสีเขียว
POSTED ON 19/08/2558


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 7 ส.ค.2558 ที่ผ่านมา กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและอุตสาหกรรมสีเขียว ประจำปี 2558 ณ โรงแรมโกลเด้นทิวลิป ซอฟเฟอรีน กรุงเทพฯ เพื่อแสดงถึงความสำเร็จขององค์กรต่างๆ ในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อแนวทางการปรับปรุงองค์กรให้มีธรรมาภิบาล เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมในปีนี้ จำนวน 231 ราย และผ่านการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวระดับที่ 4 และ 5 จำนวน 50 ราย

 

นายปราโมทย์ วิทยาสุข ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในอดีตภาคอุตสาหกรรมได้ให้ความสำคัญต่อผลประกอบการเป็นอันดับแรก โดยเน้นการลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพเป็นหลัก จนลืมคำนึงว่าสิ่งที่ทำไปนั้นส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดความไม่พอใจของประชาชนที่อยู่รอบสถานประกอบการ และระบบนิเวศขาดความสมดุล ต้องใช้เวลาในการเยียวยาแก้ไข

 

ความสำคัญของการอยู่ร่วมกันระหว่างโรงงานอุตสาหกรรม สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน จึงเป็นที่มาของโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเชิญชวน และสนับสนุนให้โรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศหันมาใส่ใจกับการปรับปรุงกิจการอย่างต่อเนื่อง มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนในที่สุด

 

สำหรับในส่วนของการส่งเสริมสถานประกอบการให้เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการใน 3 ระดับ ได้แก่ ระดับสถานประกอบการ ระดับนิคมอุตสาหกรรม และระดับเมืองอุตสาหกรรม โดยในระดับสถานประกอบการ กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการผ่านโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว เริ่มจากการผลักดันให้องค์กรกำหนดนโยบายที่เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน ยึดถือหลักการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการร่วมแรงร่วมใจปฏิบัติตามนโยบายของบุคลากรในทุกระดับ และขยายผลการพัฒนาตลอดโซ่อุปทาน ขระที่ในระดับนิคมอุตสาหกรรมและเมืองอุตสาหกรรม กระทรวงฯได้ดำเนินการผ่านโครงการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว รวมทั้งสิ้น 20,144 ราย

 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงแรงงานในการให้ตราสัญลักษณ์ Thailand Trusted Mark (TTM) แก่สถานประกอบการเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย โดยผู้ได้รับการรับรอง TTM จะต้องได้อุตสาหกรรมสีเขียวอย่างน้อยระดับ 2 ขึ้นไป และได้รับการรับรองมาตรฐานแรงงานไทย

 

ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมบนพื้นฐานของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นเศรษฐกิจสีเขียว กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีการผลักดันและส่งเสริมสถานประกอบการภาคการผลิตให้ดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่ส่งผลกระทบต่อสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม

 

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ริเริ่มโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2551 เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบสถานประกอบการตลอดจนร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนที่อาศัยอยู่รอบสถานประกอบการ รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อความสมดุลของระบบนิเวศ จนถึงปัจจุบันมีสถานประกอบการที่ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม จำนวนทั้งสิ้น 1,508 ราย และเพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญามะนิลาว่า ด้วยอุตสาหกรรมสีเขียวในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเดือน ก.ย.2552

 

ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวขึ้นในปลายปี 2553 เพื่อผลักดันอุตสาหกรรมไทยไปสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ โดยอาศัยหลักการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นพื้นฐานภายใต้กรอบการพัฒนาใน 5 ระดับ ได้แก่

 

ระดับที่ 1 ความมุ่งมั่นสีเขียว (Green Commitment) คือ การแสดงความมุ่งมั่นในรูปแบบของนโยบายเป้าหมายและแผนงานที่จะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีการสื่อสารภายในองค์กรให้ทราบโดยทั่วกัน

 

ระดับที่ 2 ปฏิบัติการสีเขียว (Green Activity) คือ การดำเนินกิจกรรมตามนโยบาย เป้าหมายและแผนงานที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและสำเร็จตามความมุ่งมั่นที่ตั้งไว้

 

ระดับที่ 3 ระบบสีเขียว (Green System) คือ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ มีการติดตาม ประเมินผล และทบทวนเพื่อการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง หรือการได้รับรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมอันเป็นที่ยอมรับ หรือได้รับการรับรองมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมต่างๆ

 

ระดับที่ 4 วัฒนธรรมสีเขียว (Green Culture) คือ การที่ทุกคนในองค์กรมีจิตสำนึกร่วมกันในการสงวนและรักษาไว้ซึ่งสิ่งแวดล้อมที่ดีและให้ความร่วมมือร่วมใจในทุกด้านของการประกอบกิจการให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและดำเนินการต่างๆ จนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมองค์กร

 

ระดับที่ 5 เครือข่ายสีเขียว (Green Network) คือ การขยายขอบเขตของการเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวจากภายในองค์กรเองออกสู่ภายนอกตลอดโซ่อุปทาน (Supply Chain) โดยสนับสนุนให้คู่ค้าและพันธมิตรเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวด้วย

 

จากปี 2551 จนถึงปัจจุบัน มีสถานประกอบการภาคการผลิตทั่วประเทศได้รับการประเมินเป็นอุตสาหกรรมสีเขียวรวมกว่า 20,000 ราย และคาดว่าจะมีถึง 35,000 ราย ภายในปี 2561

 

"ความสำเร็จของโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้ปฏิบัตินั้นได้ให้ความสำคัญและมีความพยายามของทุกระดับในการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงการดำเนินกิจกรรมขององค์กรให้ถูกต้องตามกฎหมาย สร้างประโยชน์แก่สังคม และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่สถานประกอบการจำนวน 279 ราย ที่ผ่านเกณฑ์ธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรมสีเขียว จะได้รับเกียรติบัตรและโล่ ที่แสดงถึงความสำเร็จในการพัฒนาองค์กรไปสู่ความยั่งยืน" นางอรรชกา กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing