ENVIRONMENT

Kawasaki ECO-Tech มหกรรมด้านเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม
POSTED ON 06/02/2558


 

มหกรรม Kawasaki International ECO-Tech Fair 2015 มหกรรมที่รวบรวมเอาบริษัทและองค์กรจากต่างประเทศกว่า 138 ราย กับบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านอีโคเทค มาร่วมแบ่งปันแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนประสบการณ์อันทรงคุณค่าและเทคโนโลยีด้านนิเวศที่เกี่ยวข้องกับการผลิตต่างๆ สู่ทั่วโลก โดยงานจัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 5-6 ก.พ.2558 ณ Todoroki Arena ในเมืองคาวาซากิ จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น

 

สำหรับมหกรรม Kawasaki International ECO-Tech Fair 2015 ในครั้งนี้มีหัวข้อหลักของงานคือ "เมืองคาวาซากินำพาเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมไปสู่โลก" ถือเป็นเวทีการเจรจาต่อรองทางธุรกิจสากลสำหรับบุคลากรที่อยู่ในอุตสาหกรรมสิ่งแวดล้อมจาก 30 ประเทศและเขตปกครอง (ส่วนใหญ่มาจากเอเชีย) โดยภายในงานจะมีการจัดแสดงโครงการที่ทันสมัยต่างๆ และตัวอย่างความสำเร็จในต่างประเทศ และจะมีการจัดการประชุมระหว่างผู้เชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน

 

เมืองคาวาซากิ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านอุตสาหกรรมนั้น ตั้งอยู่ที่จังหวัดคานางาวะ ประเทศญี่ปุ่น ใกล้กับกรุงโตเกียว โดยตั้งอยู่ตรงกลางของเกาะญี่ปุ่นด้วยจำนวนประชากร 1.46 ล้านคน ซึ่งเป็นคนไทย 500 คน (อ้างอิงกับข้อมูล ณ สิ้นเดือน ธ.ค.2557) นอกเหนือจากภาพลักษณ์เมืองอุตสาหกรรมอันทันสมัยแล้ว เมืองคาวาซากิยังเป็นสถานที่ที่รวบรวมความฝันและศิลปวัฒนธรรมไว้ด้วยกัน โดยมีตัวการ์ตูนอันเป็นที่รักของเด็กๆ ทั่วโลกอย่างโดราเอมอนเป็น "พลเมืองพิเศษ" ประจำเมืองนี้ และยังเป็นสถานที่ตั้ง "พิพิธภัณฑ์ฟูจิโกะ เอฟ ฟูจิโอะ" (Fujiko.F.Fujio) นักเขียนการ์ตูนชื่อดังเจ้าของผลงานโดราเอมอนด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ศิลปะทาโร่ โอคาโมโตะ ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองนี้เช่นกัน

 

นับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 60 ถึง 70 เมืองคาวาซากิซึ่งเป็นเมืองหลักของเขตอุตสาหกรรมเคฮินที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วนั้น มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น โดยทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ขณะเดียวกันก็ต้องรองรับกับการเสื่อมสภาพของสิ่งแวดล้อม เช่น มลภาวะในอากาศ/น้ำ จากการพัฒนาที่อยู่เหนือการควบคุม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหามลภาวะด้านสิ่งแวดล้อม ประชาชนชาวคาวาซากิ รวมถึงภาคธุรกิจและรัฐบาล ได้ร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด และท้ายที่สุดได้เปลี่ยนเมืองคาวาซากิให้กลายเป็นบ้านที่น่าอยู่อีกครั้งผ่านโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง และประสบการณ์ในการดำเนินการอย่างมากมาย

 

ปัจจุบัน เมืองคาวาซากิมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วโดยได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากทั้งองค์กรและสถาบันวิจัยและพัฒนา (R&D) จำนวนมาก ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ คิง สกายฟรอนท์ (KING SKYFRONT) ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามกับสนามบินฮาเนดะนั้น มีบทบาทอย่างมากในการแก้ปัญหาด้านสุขภาพ การรักษาทางการแพทย์ สวัสดิการ และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนารากฐาน R&D ที่จะนำไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ อีกด้วย

 

ในพื้นที่เขตอุตสาหกรรมชายฝั่งของเมืองยังเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตพลังงานหลากหลายประเภท ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่มีประสิทธิภาพและทันสมัยมากที่สุด โรงผลิตพลังงานก๊าซธรรมชาติ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม เพื่อผลิตพลังงานให้กับเมืองหลวง และสนับสนุนในเรื่องการนำเสนอและการใช้พลังงานไฮโดรเจนในวงกว้าง เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2557 เมืองคาวาซากิได้ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท โตชิบา คอร์ปอเรชั่น (Toshiba Corporation) เพื่อตรวจสอบการใช้งานระบบจ่ายพลังงานแบบพึ่งพาตนเอง ซึ่งประกอบด้วยพลังงานทดแทนและไฮโดรเจน และคาดว่าจะมีการทดสอบเพื่อยืนยันประสิทธิภาพในเดือนเมษายน 2558 ระบบดังกล่าวจะใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส (Electrolysis) เพื่อนำมาผลิตไฮโดรเจนที่ใช้สำหรับกระบวนการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮโดรเจนที่ผลิตได้จะถูกบรรจุไว้ในถังเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตพลังงานและถังน้ำอุ่น ซึ่งระบบสามารถผลิตพลังงานและน้ำอุ่นได้อย่างอิสระแม้ว่าระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ในชีวิตประจำวันจะได้รับความเสียหายจากสาเหตุตามธรรมชาติก็ตาม นอกจากนี้ ระบบจ่ายพลังงานยังสามารถใช้รถบรรทุกเคลื่อนย้ายไปยังพื้นที่ประสบภัยพิบัติได้อีกด้วย

 

โครงการเมืองคาวาซากิสีเขียวได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในปี 2551 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีนได้เดินทางมาที่เมืองคาวาซากิเพื่อเยี่ยมเยียนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต่อมาในปี 2557 นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานของประเทศไทย ได้เดินทางมาเยี่ยมชมโรงผลิตพลังงานที่เมืองคาวาซากิด้วยเช่นกัน

 

เทคโนโลยีการอนุรักษ์ ผลิต และจัดเก็บพลังงานและพลังงานสะอาดได้ก่อให้เกิดความกังวลทั่วโลกในเรื่องปัญหาอุปทานพลังงานที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตะวันออกของญี่ปุ่น เมืองคาวาซากิได้ใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างสังคมที่ปลอดภัยและพัฒนา ตลอดจนทำให้เทคโนโลยีพลังงานเป็นที่นิยม เพื่อให้เทคโนโลยีด้านนิเวศที่ทันสมัยดังกล่าวสามารถสนับสนุนประเทศและเขตปกครองอื่นๆ ในเอเชียที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่มากจนเกินไปได้

 

ด้วยเหตุนี้ มหกรรม International ECO-Tech Fair ครั้งใหญ่ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อปี 2552 ที่เมืองคาวาซากิ จึงช่วยเผยแพร่ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศที่ครบถ้วนมากขึ้น และสนับสนุนการเจรจาต่อรองทางธุรกิจได้มากยิ่งขึ้น

 

โดยในทุกๆ ปีจะมีการจัดการประชุมเพื่อแนะนำโครงการจากต่างประเทศและการประชุมของผู้เชี่ยวชาญมากมายที่เมืองคาวาซากิ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากประเทศและเขตปกครองในเอเชียเข้าร่วมจำนวนมาก รวมถึงประเทศไทยด้วย ขณะเดียวกันก็จะมีการนำเสนอผลการวิจัยและเทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบนิเวศสู่สายตาชาวโลก นอกจากนี้ ก็จะมีผลงานที่ยอดเยี่ยมอันเป็นผลมาจากการแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมและการถ่ายทอดด้วยเทคโนโลยี