ENVIRONMENT

"ไบโอพลาสติก" เป้าหมายโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่ของอุตฯไทย
POSTED ON 15/01/2558


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - "ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์" ผู้อำนวยการสถาบันพลาสติก เปิดเผยว่า ขณะนี้ "นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช" รมว.อุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้สถาบันพลาสติกและสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ไปเร่งจัดทำแผนและมาตรการพัฒนาพลาสติกชีวภาพหรือไบโอพลาสติกครบวงจร เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนตั้งโรงงานผลิตพลาสติกเกิดขึ้นในประเทศไทย และให้มีการใช้อย่างแพร่หลาย

 

โดย รมว.อุตสาหกรรม มีนโยบายที่จะผลักดันให้ไบโอพลาสติกเป็นโปรดักต์แชมเปี้ยนตัวใหม่ของไทยในอนาคต หรือการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางผลิตไบโอพลาสติกในภูมิภาคนี้ให้ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้ เพราะไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่สำคัญของโลกอย่างอ้อยและน้ำตาล มันสำปะหลัง

 

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาการสนับสนุนของภาครัฐ เพื่อให้มีการลงทุนและส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมไบโอพลาสติกในภูมิภาคอาเซียน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 ม.ค.2556 มอบหมายให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งกลไกเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ โดยบูรณาการทำงานร่วมกันกับภาคเอกชน และมอบหมายกระทรวงการคลังไปจัดทำข้อเสนอมาตรการการคลัง เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพที่เหมาะสม แต่การดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมาเกิดความล่าช้า และยังไม่มีแผนชัดเจนในการส่งเสริมออกมา เพราะหากไม่เร่งดำเนินการก็เกรงว่านักลงทุนที่มีความสนใจจะเข้ามาตั้งโรงงาน อาจจะหันไปลงทุนประเทศอื่นอย่างมาเลเซียที่มีมาตรการส่งเสริมชัดเจนออกมาแล้ว

 

สำหรับการจัดทำแผนดังกล่าวนี้ ทางสถาบันพลาสติก และ สศอ. มีความเห็นตรงกันว่า จะต้องให้ทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำหรือในรูปแบบคลัสเตอร์ โดยในช่วงปลายเดือน ม.ค.2558 นี้ จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วมหารือในการจัดทำแผนดังกล่าวว่าภาครัฐจะสามารถให้การส่งเสริมในรูปแบบมาตรการสนับสนุนใดได้บ้าง รวมทั้งภาคเอกชนในห่วงโซ่มีข้อกังวลหรือต้องการให้ภาครัฐสนับสนุนในส่วนไหน และจะรวบรวมความคิดเห็น มาตรการส่งเสริม นำมาจัดทำแผนเสนอ รมว.อุตสาหกรรม พิจารณาในช่วงเดือน มี.ค.2558 นี้ ก่อนที่จะเสนอขอความเห็นชอบจาก ครม.ต่อไป คาดไม่เกินกลางปีนี้

 

"การจัดทำแผนจะต้องดูว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต้นน้ำอย่างภาคการเกษตร ผู้ผลิตวัตถุดิบจะได้ประโยชน์จากการส่งเสริมอย่างไร เพื่อส่วนหนึ่งจะได้ไปวางแผนการเพาะปลูก เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อการบริโภค และเมื่อมีการผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพได้ ผู้ประกอบการพลาสติกที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 3,000 บริษัท ก็สามารถนำไปสร้างคอมพาวด์ ขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ และส่งขายในประเทศหรือส่งออกได้" ดร.เกรียงศักดิ์ กล่าว

 

ดร.เกรียงศักดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า "ที่ผ่านมาแม้ว่าการส่งเสริมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพจะยังไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้น แต่ก็มีทาง บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ร่วมทุนกับ บริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล จากญี่ปุ่น ลงทุนผลิตพลาสติกชีวภาพประเภทพีบีเอส ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างแล้ว และถือเป็นโครงการนำร่องที่เกิดขึ้นในไทย โดยที่ผ่านมาทางภาครัฐก็ได้ออกมาตรการสนับสนุนไปแล้ว อย่างเช่นการให้ผู้ประกอบการภายในประเทศสามารถซื้อวัตถุดิบน้ำตาลได้ในราคาส่งออก ซึ่งช่วยลดต้นทุนการผลิตจากราคาน้ำมันในประเทศที่มีราคาสูงกว่าได้ รวมถึงทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้มีการออกมาตรฐานผลิตภัณฑ์พลาสติกย่อยสลายมารองรับแล้ว"

 

ขณะที่สถาบันฯ เองได้มีการจัดฝึกอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีไปสู่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) เพื่อรองรับการเข้าสู่อุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพให้มากขึ้น

 

ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการเรียกร้องให้กระทรวงการคลังเข้ามาช่วยเหลือในการจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้นั้น เข้าใจว่าอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากการตั้งโรงงานต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง และตลาดยังไม่มีความต้องการมากเท่าที่ควร ผู้ประกอบการจึงอยากให้ภาครัฐเข้ามาสนับสนุนตรงจุดนี้

 

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการสนับสนุนการตั้งโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพเกิดขึ้นได้ จะส่งผลให้มีนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานในไทยเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีความมั่นคงด้านวัตถุดิบโดยเฉพาะบริษัท เนเจอร์เวิร์ค จากสหรัฐอเมริกา ก็สนใจที่จะเข้ามาตั้งโรงงานแต่ติดปัญหาความล่าช้าในมาตรการส่งเสริมของรัฐบาลไทยอยู่

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ