ENVIRONMENT

SCG เร่งยกระดับโรงงานในมาบตาพุดเป็นโรงงานเชิงนิเวศ ภายในปี 2558
POSTED ON 09/12/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - ภายหลังที่บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด และ บริษัท ไทยโพลิเอทีลีน จำกัด ในเครือเอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ได้ผ่านการรับรองให้เป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศหรือ Eco Factory  เป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยได้รับใบรับรองจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กนอ.) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา จากหลักเกณฑ์การประเมินของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ที่ร่วมกันกำหนดเกณฑ์มาตรฐานโรงงาน เพื่อให้โรงงานประกอบกิจการอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน

 

ล่าสุด ทางเอสซีจี เคมิคอลส์ ได้ประกาศเดินหน้าที่จะยกระดับโรงงานในมาบตาพุดอีก 11 แห่ง ขึ้นเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ให้ได้ภายในปี 2558 เพื่อให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของกระทรวงอุตสาหกรรมที่วางเป้าหมายจะให้นิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้ภายในปี 2560 ก่อนที่จะผลักดันให้มีการพัฒนาเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร, สมุทรปราการ, ปราจีนบุรี, ฉะเชิงเทรา และระยอง ตามกรอบที่วางไว้ในปี 2561 ต่อไป

 

นายสมชาย หวังวัฒนาพาณิช ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่-ปฏิบัติการ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด เปิดเปยว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทฯ ได้ใช้งบประมาณกว่า 2 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายด้านการพัฒนาสังคม สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อมีหลักเกณฑ์การกำหนดเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศขึ้นมา ซึ่งได้ครอบคลุมการดำเนินงานทั้ง 14 ด้าน 5 มิติขึ้นมา ได้แก่  (1) การใช้วัตถุดิบ (2) การใช้พลังงาน (3) การจัดการด้านขนส่งและโลจิสติกส์ (4) ห่วงโซ่อุปทานสีเขียว (5) การจัดการพื้นที่และภูมิทัศน์สีเขียว  (6) การจัดการสารเคมีและวัตถุอันตราย (7) การจัดการน้ำและน้ำเสีย (8) การปล่อยก๊าซเรือนกระจก  (9) การจัดการมลภาวะทางอากาศ (10) การจัดการกากของเสีย (11) ความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน (12) ความหลากหลายทางชีวภาพ (13) การสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้กับชุมชน และ (14) การเปิดเผยข้อมูลและรับผิดชอบต่อชุมชนโดยรอบ โรงงานต่างๆ จะต้องนำมาปฏิบัติให้ได้ตามเกณฑ์ที่วางไว้

 

อย่างไรก็ตาม การจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศได้ สิ่งแรกจะต้องดำเนินการให้โรงงานได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม(ไอเอสโอ 14001) หรือการรับรองอุตสาหกรรมสีเขียวของกระทรวงอุตสาหกรรมตั้งแต่ระดับ 3 ขึ้นไปก่อน และถึงเข้าไปดำเนินงานตามหลักเกณฑ์แต่ละด้านที่วางไว้ การที่ 2 โรงงานได้รับใบรับรองเป็น Eco Factory ไปแล้ว ได้ผ่านการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ในการดูแลชุมชน ผ่านการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ที่มีการพัฒนาอาชีพสนับสนุนจัดตั้งวิสาหกิจของทางการตลาด ช่วยให้เกิดรายได้กับชุมชนแล้วกว่า 82 ล้านบาท ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาชุมชนตั้งแต่การให้ความรู้ สนับสนุนอุปกรณ์ วัตถุดิบ พัฒนาคุณภาพและรูปลักษณ์ของสินค้า รวมถึงการหาช่องทางการตลาด

 

นอกจากนี้ การที่ผู้บริหารให้ความสำคัญในการเข้าไปลงทุนพื้นที่พบปะชุมชนเป็นระยะๆ จะก่อให้เกิดการรับฟังปัญหาและนำมาร่วมกันหาทางออกให้กับชุมชน เป็นการช่วยแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที หรือกรณีการนำนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยมาใช้ในการดำเนินงาน เช่น การนำของเหลือทิ้งกลับมาใช้เป็นวัตถุดิบระหว่างโรงงาน เป็นการช่วยลดของเสียได้กว่า 1.5 แสนตัน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการนำความร้อนเหลือทิ้งกลับมาใช้ประโยชน์ ที่คิดค้นนวัตกรรมสารเคลือบผิว เพื่อการอนุรักษ์พลังงานสำหรับเตาเผาอุตสาหกรรมมาใช้ภายในโรงงาน สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 1.7 ล้านจิกะจูล ที่สำคัญช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการลดใช้พลังงานได้ 4 แสนตัน ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ยังมีการพัฒนาหัวเผาประสิทธิภาพ เพื่อลดการปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจน และควบคุมสารอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) ได้ดีกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ และนำระบบรีเวอร์สออสโมซิส เพื่อรีไซเคิลน้ำกลับมาใช้ใหม่ และสกัดเกลือจากน้ำเสียรวม เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานกระดาษ ช่วยลดการใช้น้ำได้มากว่า 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมถึงการจัดการกากของเสีย โดยเปลี่ยนของเสียให้มีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น

 

โดยในปีหน้าทางบริษัทจะต้องใช้งบประมาณ 160 ล้านบาท หรือเฉลี่ยโรงงานละ 15 ล้านบาท เพื่อใช้ในการยกระดับโรงงานของกลุ่มที่อยู่อีก 11 แห่ง แบ่งเป็น ในนิคมอุตสาหกรรมอาร์ไอแอล ที่ดำเนินการโดยเอสซีจี 5 แห่ง และในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดอีก 6 แห่ง ให้ได้รับการเป็นโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ให้แล้วเสร็จภายในปี 2558 และจะต้องใช้งบประมาณเบื้องต้นอีกกว่า 100 ล้านบาท สำหรับการไปอุดช่องโหว่ของนิคมฯ อาร์ไอแอล ว่ายังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขส่วนใดบ้าง เมื่อทั้ง 2 ส่วนแล้วจะส่งผลให้นิคมฯอาร์ไอแอล เป็นนิคมแห่งแรกของประเทศที่เป็นนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศขึ้นมา ตามเป้าหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมที่วางไว้

 

ขณะเดียวกันการจะดำเนินงานให้นิคมฯมาบตาพุดเป็นนิคมเชิงนิเวศได้ นอกจากกลุ่มเอสซีจีแล้ว การดำเนินงานของผู้ประกอบการจะเป็นลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน โดยเฉพาะเอสซีจีเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มเพื่อนชุมชน จะดึงสมาชิกที่มีอยู่จำนวน 42 โรงงาน มาเป็นต้นแบบโรงงานอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้ได้ จากจำนวนโรงงานที่มีอยู่กว่า 120 แห่ง ดังนั้น จึงเชื่อว่าภายในปี 2560 การจะยกระดับให้นิคมฯมาบตาพุดเป็นนิคมเชิงนิเวศน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ได้ด้วย

 

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ