ENVIRONMENT

ส.อ.ท. เสนอ ตั้ง 88 จุด รับซื้อขยะอิเล็กฯ-ไฟฟ้า
POSTED ON 21/10/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เตรียมว่าจ้างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ศึกษาการจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์จากครัวเรือนให้ถูกวิธี เนื่องจากขณะนี้การคัดแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามบ้านเรือน คัดแยกโดยคนเก็บของเก่า (ซาเล้ง) ทำให้การคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งส่งผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพประชาชนในพื้นที่ได้ และแนวโน้มขยะดังกล่าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

 

เบื้องต้น ส.อ.ท.เสนอว่า จะตั้งจุดรับซื้อซากผลิตภัณฑ์ฯ ทั่วประเทศ 88 จุด เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี เช่น นำไปฝังกลบในหลุมฝังกลบขยะที่มีศักยภาพ ไม่ใช่สถานที่ทั่วๆ ไป

 

นอกจากนี้ เตรียมนำมาตรการจูงใจให้ราคารับซื้อซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์สูงกว่าราคาท้องตลาด เพื่อให้ประชาชนหรือซาเล้งเก็บรวบรวมซากผลิตภัณฑ์มาขายที่จุดรับซื้อทั้ง 88 จุด เช่น ขายร้านของเก่าทั่วไป 100 บาท ขายที่จุดรับซื้อได้ 150-200 บาท ราคาส่วนต่างที่สูงกว่าท้องตลาด จะขอความร่วมมือบริษัทที่ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งบริษัทมือถือ ให้ช่วยจ่ายค่าส่วนต่างให้กับศูนย์รับซื้อซากผลิตภัณฑ์ฯ ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ออกเป็นกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ทั่วโลก โดยบริษัทเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ต้องมีส่วนร่วมในการกำจัดซากฯ อย่างถูกวิธีเพื่อเป็นการดูแลสังคม

 

ส่วนแหล่งกำเนิดซากผลิตภัณฑ์ฯ จากบ้านเรือน หรือตามชุมชนต่างๆ ส่วนใหญ่จะกำจัดไม่ถูกวิธี โดยผลวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พบว่า ซากอิเล็กทรอนิกส์จากครัวเรือนส่วนใหญ่ถูกนำไปจำหน่าย 51.6% เก็บไว้ใช้ 25.3% บริจาค 7.8% ส่วนใหญ่นำไปขายต่อให้ซาเล้ง หรือทิ้งรวมกับขยะทั่วไป จากนั้นซาเล้งก็จะกำจัดซากดังกล่าวโดยการนำไปแยกชิ้นส่วนด้วยมือเพื่อนำบางส่วนไปขาย เช่น เผาสายไฟหรือทุบแก้วจากจอภาพ หรือหลอดไฟ ซึ่งมีทั้งสารปรอท ตะกั่ว แล้วที่เหลือก็จะทิ้ง หากกำจัดไม่ถูกวิธี จะทำให้สารพิษปนเปื้อน หรือแพร่กระจายทั้งคนทำหรือสิ่งแวดล้อมที่อยู่ข้างเคียงได้

 

อย่างไรก็ตาม การกำจัดซากขยะที่ถูกวิธีนั้นต้องหาวิธีในการสนับสนุนให้มีการตั้งโรงงานให้ชัดเจนกับขยะที่จะคัดแยก และเพื่อป้องกันภัยอันตรายที่จะเกิดขึ้นด้วย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายบังคับให้รวบรวมซากผลิตภัณฑ์ฯ ให้มีปริมาณมากพอที่จะเข้าสู่โรงงานรีไซเคิลเพื่อให้เดินระบบ เป็นเรื่องที่จะต้องมีแรงจูงใจในการลงทุน

 

ทั้งนี้ นอกจากการออกกฎหมายแล้วสิ่งที่ต้องดำเนินการ คือ ให้ความรู้ประชาชนและกลุ่มซาเล้งว่า ซากผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นของเสียอันตราย ควรได้รับการจัดการให้ถูกวิธี และควรแยกทิ้งซากฯ ออกจากขยะมูลฝอยทั่วไป รวมทั้งเร่งรัดออกมาตรฐานบังคับผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อป้องกันการนำเข้าผลิตภัณฑ์คุณภาพต่ำ ซึ่งจะกลายเป็นซากผลิตภัณฑ์ฯ ในระยะเวลาสั้น

 

สำหรับแนวโน้มปริมาณซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ปี 2556 มีปริมาณ 20.88 ล้านเครื่อง เช่น โทรศัพท์มือถือ-บ้าน 9.14 ล้านเครื่อง โทรทัศน์ 2.43 ล้านเครื่อง อุปกรณ์เล่นภาพ หรือเสียง ขนาดพกพา 3.3 ล้านเครื่อง คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 1.99 ล้านเครื่อง เครื่องแฟกซ์ 1.5 ล้านเครื่อง เครื่องปรับอากาศ 710,000 เครื่อง ตู้เย็น 872,000 เครื่อง

 

ปี 2557 คาดว่า มีปริมาณซากฯ 22.08 ล้านเครื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ-บ้าน 9.75 ล้านเครื่อง ส่วนปี 2558 คาดว่า มี 23.23 ล้านเครื่อง ส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ-บ้าน 10.33 ล้านเครื่อง ปี 2559 คาดว่า มีซากฯ 24.31 ล้านเครื่อง ส่วนใหญ่เป็นโทรศัพท์มือถือ-บ้าน 10.90 ล้านเครื่องเช่นกัน บางส่วนก็ทำลายอย่างถูกวิธี บางส่วนก็ทำลายไม่ถูกวิธี

 

 นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าวว่า การกำจัดขยะอุตสาหกรรม และการกำจัดขยะชุมชน เป็นเรื่องที่นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช  รมว.อุตสาหกรรม ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยตั้งเป้าหมายนำขยะอุตสาหกรรมมีพิษเข้าสู่ระบบการกำจัดที่ถูกวิธีในปีนี้ไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านตัน จากปัจจุบันที่มีเพียง 1 ล้านตันและเพิ่มเป็น 1.5 ล้านตันในปีหน้า