ENVIRONMENT

อุตฯ หนุนผู้ประกอบการมุ่งสู่โรงงานเชิงนิเวศ
POSTED ON 14/10/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในงานสัมมนาเชิงวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง “Eco Innovation and Solution 2014” ซึ่งจัดโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ณ ไบเทค บางนา เมื่อในวันที่ 14 ต.ค. 2557 ที่ผ่านมา ว่า การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเป็นการพัฒนาเมืองที่มีการเจริญเติบโตโดยมีอุตสาหกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก และมีความสมดุลกับการพัฒนาทางสังคม และความเป็นอยู่ของประชาชน โดยมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมในระดับที่ต่ำ เป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

กระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการพัฒนาส่งเสริมความเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเมื่อปี 2550 กำหนดให้หน่วยงานภายใต้กระทรวง ได้แก่ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ และกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในพื้นที่ความรับผิดชอบของตน ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมภายใต้ความรับผิดชอบของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย การส่งเสริมการนำเศษโลหะเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ตามหลักการรีไซเคิลของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศในเขตประกอบการและสวนอุตสาหกรรมที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศเชิงพื้นที่นั้น

 

ในระยะแรกจะเน้นการจัดระเบียบให้โรงงานต่างๆ ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ตลอดจนเงื่อนไขการอนุญาต พร้อมทั้งดำเนินการส่งเสริมพัฒนาให้มีมาตรฐานการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมเพื่อให้การประกอบกิจกรรมโรงงานไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนบริเวณโดยรอบนิคมอุตสาหกรรม และเขตประกอบการ/สวนอุตสาหกรรม เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกทางด้วย

 

ปัจจุบันได้ดำเนินการส่งเสริมการนำกากอุตสาหกรรมและของเสียที่เกิดจากกระบวนการผลิตมาใช้เป็นวัตถุดิบหรือพลังงานใหม่โดยใช้หลักการ 3Rs (Reduce Reuse Recycle : การลดปริมาณใช้ทรัพยากร การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่) โดยกำหนดเป้าหมายที่จะลดการเกิดของเสียที่จะต้องนำไปฝังกลบให้หรือน้อยที่สุด (Zero waste to landfill) หากเป็นของเสียที่มีค่าความร้อนก็จะนำไปใช้เป็นพลังงานเชื้อเพลิงในเตาเผาต่างๆ (Waste to energy) อันรวมไปถึงการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเตาเผาขยะชุมชนเพื่อผลิตไฟฟ้าตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

 

“กระทรวงอุตสาหกรรมได้กำหนดกรอบการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศไว้ 5 มิติ ได้แก่ มิติกายภาพ มิติเศรษฐกิจ มิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติการบริหารจัดการ ซึ่งเป็นการวางแผนบูรณาการการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ ให้สอดรับซึ่งกันและกัน อาทิ การกำหนดผังเมืองเพื่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การบริหารจัดการคมนาคมขนส่ง การจัดการแหล่งน้ำ การจัดการมลพิษจากการประกอบอุตสาหกรรม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของพนักงานและประชาชนในชุมชนโดยรอบ เป็นต้น โดยแผนงานโครงการดังกล่าวมาจากการประชุมหารือร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชน” ดร.อรรชกา กล่าว 

 

ด้าน นายสุพันธุ์  มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันทุกภาคส่วน ไม่ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม นักวิชาการต่างๆ เห็นพ้องตรงกันว่า ภาคอุตสาหกรรมซึ่งเป็นกลไกหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจะเติบโตและพัฒนาได้ต้องเป็นไปตามหลักแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ทำให้เกิดความสมดุลทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม โดยเห็นได้จากนโยบายของภาครัฐและแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ความยั่งยืน

 

สภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะตัวแทนภาคเอกชน ได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาเป็นเวลาหลายปีในการศึกษาและวางกรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสำหรับประเทศไทย จนทำให้ปัจจุบันมีแนวทางการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ซึ่งในส่วนนี้อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมไม่ได้มองเพียงผลประโยชน์หรือผลกำไรจากการประกอบธุรกิจเพียงอย่างเดียว แต่ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ทรัพยากร และพลังงานที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด ลดการเกิดของเสียจากการผลิต และให้ความสำคัญต่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทำให้ชุมชนที่อยู่รอบข้างมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

 

สำหรับการสัมมนาวิชาการได้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการให้ความรู้ความเข้าใจและประโยชน์ของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและนำไปสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นเวทีกลางในการถ่ายทอดแนวคิด เทคโนโลยี และนวัตกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงนิเวศให้กับทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคอุตสาหกรรมที่ต้องดำเนินการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมเชิงนิเวศที่สามารถแข่งขันในระดับสากล