ENVIRONMENT

กรอ.เร่งดึงโรงงานผลิตกากอุตฯ อันตรายเข้าสู่ระบบ พร้อมเพิ่มโทษผู้ทำผิด
POSTED ON 03/09/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - นายพสุ โลหารชุน อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า เรื่องเร่งด่วนที่ กรอ.จะนำเสนอต่อรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อให้เร่งดำเนินการ มีประเด็นหลัก 3 เรื่อง ได้แก่ (1) การดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม (รง.4) (2) การจัดการกากอุตสาหกรรม และ (3) การยกเลิกการใช้แร่ใยหิน ซึ่งทั้ง 3 เรื่องเป็นเรื่องเร่งด่วนที่คิดว่ารัฐมนตรีคนใหม่จะสนใจ และเป็นประเด็นที่ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องการให้ดำเนินการโดยเร็ว

 

สำหรับเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรม ขณะนี้กรมฯ อยู่ระหว่างการทำโครงการนำร่อง เพื่อดึงโรงงานผู้ผลิตกากอุตสาหกรรมอันตรายเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด โดยมีแผนเข้าตรวจสอบโรงงานอุตสาหกรรม 20 ประเภทที่มีกากอุตสาหกรรมอันตราย ใน 17 จังหวัด จำนวน 2,829 โรงงาน ซึ่งปัจจุบันตรวจสอบไปแล้ว 977 โรงงาน มีจำนวนกากอุตสาหกรรมที่ขออนุญาตนำออกนอกโรงงานทั้งสิ้น 1 ล้านตันและขนออกจริง 2.34 แสนตัน ที่เหลืออีก 1,800 โรงงาน กรมฯ จะเร่งตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3-5 เดือน โดยคาดว่าเมื่อตรวจสอบเสร็จแล้วจะทำให้มีจำนวนกากอุตสาหกรรมเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น 20-30%

 

ทั้งนี้ ประเภทโรงงานอุตสาหกรรม 20 ประเภท เป้าหมาย ได้แก่ โรงงานหมัก ชำแหละ อบ ป่น โรงงานทำเคมีภัณฑ์ สารเคมี วัสดุเคมี โรงงานทำปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช โรงงานทำสีทา พ่น เคลือบ เป็นต้น โดยใน 17 จังหวัดเป้าหมาย เป็นจังหวัดที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชลบุรี เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน กรมฯ อยู่ระหว่างการปรับแก้กฎหมายเพิ่มโทษผู้กระทำผิดในเรื่องการลักลอบนำกากอุตสาหกรรมไปทิ้งโดยผิดกฎหมาย จะปรับเพิ่มโทษค่าปรับให้สูงขึ้น และมีโทษจำคุก รวมทั้งอาจมีการเพิกถอน ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานหากยังไม่ปรับปรุงแก้ไข จากโทษเดิมที่มีโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท ซึ่งการปรับปรุงกฎหมายใหม่คาดว่าจะเปิดรับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียภายในต้นปี 2558 และดำเนินการตามขั้นตอนของการปรับแก้กฎหมายต่อไป

 

ด้านผู้รับบำบัดกากอุตสาหกรรมปัจจุบันมีจำนวน 400 แห่ง ซึ่งกรมฯ ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบการดำเนินการเช่นเดียวกัน โดยได้มีการสั่งปรับปรุงตามมาตรา 37 ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 30-40 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงงานประเภท 106 หรือโรงงานรีไซเคิล จากโรงงาน 200 แห่ง ที่ได้เข้าไปตรวจสอบส่วนที่เหลืออีก 200 แห่ง จะเข้าตรวจสอบให้เสร็จภายในสิ้นเดือน ก.ย.2557 นี้

 

นอกจากนี้ การแก้ปัญหาขยะอุตสาหกรรมยังติดขัดในเรื่องของกฎหมายที่ขัดแย้งกัน โดยกฎหมายของกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้โรงงานจะต้องส่งต่อขยะอุตสาหกรรมไปให้โรงงานที่รับกำจัดกากอุตสาหกรรมเท่านั้น การนำขยะไปทิ้งในบ่อขยะทั่วไป หรือที่อื่นๆ เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย แต่กฎหมายของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดว่าบ่อฝังกลบขยะชุมชนจะรับกำจัดขยะทั่วไป ขยะชุมชน รวมทั้งขยะติดเชื้อและขยะอุตสาหกรรม

 

ดังนั้น จึงมีบางโรงงานอาศัยช่องโหว่ของกฎหมาย ลักลอบทิ้งขยะในบ่อขยะชุมชน รวมทั้งมาตรฐานบ่อฝังกลบตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุขก็ต่างจากกระทรวงอุตสาหกรรม โดย กรอ.ได้กำหนดอย่างเข้มงวดต้องมีการรองพื้นบ่อขยะ และมีมาตรฐานการจัดการที่เป็นสากล แต่ของกระทรวงสาธารณสุขเป็นบ่อที่ขุดขึ้นมาเพื่อฝังกลบเพียงอย่างเดียว ดังนั้น กรอ.จึงได้ส่งเรื่องไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติพิจารณาแก้ไขในเรื่องนี้