ENVIRONMENT

ปริมาณขยะทั่วไทยล้นหนัก จี้รัฐร่วมเอกชนแก้ปัญหา
POSTED ON 19/08/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวในการเสวนาเรื่อง “วิกฤติขยะของประเทศไทย : การสร้างพันธมิตรสู่การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนว่าแต่ละวันประเทศไทยมีขยะมากถึง 26-27 ล้านตัน แต่ได้รับการจัดการอย่างถูกต้องเพียง 14 ล้านตัน ที่เหลือจัดการไม่ถูกต้อง มีการเทกอง ทำให้มีขยะตกค้างกว่า 20 ล้านตัน

 

โดยคนกรุงเทพฯ สร้างขยะวันละ 2 กิโลกรัม คนต่างจังหวัด 0.93 กิโลกรัมต่อวัน นอกจากนี้ ยังมีขยะอุตสาหกรรม 3.9 ล้านตัน แต่มีโรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าสู่ระบบกำจัดขยะอย่างถูกต้องไม่ถึง 50% ขณะที่สถานที่กำจัดขยะก็ไม่ทั่วถึง นี่คือปัญหาหลักที่เกิดขึ้น

 

10 อันดับจังหวัดที่มีขยะตกค้างมากที่สุด อันดับ 1 สมุทรปราการ ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านตัน โดยปีที่แล้วสำรวจพบเพียง 2 ล้านตัน เฉพาะที่แพรกษามีถึง 8 ล้านตัน อันดับ 2 คือ สงขลา กว่า 2 ล้านตัน กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ราชบุรี ขอนแก่น พระนครศรีอยุธยา และปราจีนบุรี

 

ดังนั้น เพื่อให้การจัดการขยะเป็นระบบถูกต้องตามหลักวิชาการ กรมควบคุมมลพิษจึงเสนอโรดแมปจัดการขยะแก่คณะรักษา ความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งขณะนี้ได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยแบ่งเป็นพื้นที่วิกฤติที่ต้องจัดการเร่งด่วนคือ 6 จังหวัด ประกอบด้วย พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี นครปฐม สระบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี

 

ตามโรดแมปจัดการขยะที่เสนอ คสช. จะมีการสร้างรูปแบบใหม่ 9 ข้อคือ

 

1. มีการเปลี่ยนแปลงให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการขยะในภาพรวม

2. มีนโยบายไม่ให้มีการเทกองขยะ

3. มีแผนงานปรับปรุงฟื้นฟูและปิดแหล่งกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ปัจจุบันมีบ่อกำจัดขยะ 2,500 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ 80% มีการจัดการไม่ถูกต้องจำเป็นต้องปรับปรุงฟื้นฟูหรือปิดตัวลง โดยอีกไม่เกิน 1 สัปดาห์นับจากนี้ กรมควบคุมมลพิษจะมีปฏิบัติการในเรื่องนี้ ดังนั้น ต่อจากนี้ไปบ่อขยะ 2,500 บ่ออาจหายไป 2,000 แห่ง เพราะจะเปลี่ยนไปเป็นการจัดการแบบศูนย์รวม โดยจะพิจารณาตามความเหมาะสม เพราะไม่สามารถปล่อยให้ประเทศไทยมีหลุมขยะเหมือนขนมครกอีกต่อไป ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัดจะส่งแผนให้กรมควบคุม มลพิษพิจารณาภายใน 6 เดือนนับจากนี้ไป

4. สร้างวินัยคนในชาติเพื่อจัดการขยะอย่างยั่งยืน ประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะก่อนทิ้ง โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานการให้ข้อมูล

5. จัดให้มีรูปแบบใหม่ในการจัดการขยะ คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) จะมีบทบาทสำคัญ

6. ต้องแปลงขยะไปสู่พลังงาน จึงอาจมีโครงการสร้างเตาเผาขยะ การหมักทำปุ๋ย ทำไบโอแก๊ส

7. การจัดการของเสียอันตรายชุมชน และมูลฝอยติดเชื้อ ต้องสร้างระบบรวบรวมจัดการ

8. เปิดให้เอกชนเข้ามาดำเนินการจัดการขยะ

9. ส่งเสริมการจัดการต้นทาง โดยผู้ผลิตจะต้องผลิตสินค้าโดยสร้างขยะให้น้อยลง

 

ด้าน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณขยะในประเทศไทยมีจำนวนกว่า 27-28 ล้านตัน และเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ทั้งจากจำนวนประชากร นักท่องเที่ยว การบริโภค และภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัว ส่งผลให้ปริมาณขยะเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 4-5 ต่อปี ขณะที่กระบวนการรีไซเคิลในปัจจุบันสามารถดำเนินการได้เพียงร้อยละ 60-70 ของปริมาณขยะทั้งระบบ ซึ่งนับเป็นสัดส่วนที่น้อย ดังนั้น ภาครัฐและเอกชนจึงจำเป็นต้องร่วมกันติดตามสถานการณ์และแก้ไขปัญหาขยะอย่างเร่งด่วน

 

โดยทาง ส.อ.ท.จะนำประเด็นปัญหาการจัดการกากอุตสาหกรรมให้เข้าระบบ ไม่ให้มีการลักลอบทิ้งในสถานที่ต่างๆ การขับเคลื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนดำเนินการกับโรงงานที่ทำผิดกฎหมาย เข้าร่วมหารือกับคณะทำงานของ ส.อ.ท.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป