ENVIRONMENT

กรมโรงงานฯ เล็งของบกว่าหมื่นล้านบาท สร้างเตาเผาขยะอุตฯ
POSTED ON 08/07/2557


สิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม - นายเสรี อติภัทธะ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานแก้ไขปัญหาบ่อขยะ ที่ปล่อยมลพิษสู่ชุมชน ซึ่งในส่วนของ กรอ. ได้รับผิดชอบในส่วนของบ่อขยะอุตสาหกรรม ทั้งนี้ จากการประเมินล่าสุดพบว่าจะมีขยะอุตสาหกรรมทั่วประเทศเกิดขึ้นประมาณ 40 ตันต่อวัน และในจำนวนนี้เป็นขยะอันตรายประมาณ 4 ตันต่อวัน ซึ่งในจำนวนขยะอันตรายจำนวนนี้ คาดว่าในขั้นตอนสุดท้ายจะมีเหลือไม่มาก เพราะขยะมีพิษบางส่วนสามารถนำไปแยกเอาโลหะที่มีค่า หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ ดังนั้น จึงต้องสำรวจอย่างละเอียด เพื่อที่จะได้วางมาตรการกำจัดขยะส่วนนี้ต่อไป

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาขยะอุตสาหกรรมนี้ กรอ. ได้ลงพื้นที่สำรวจโรงงานประเภท 3 หรือโรงงานที่อาจส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งประเทศจำนวนกว่า 7 หมื่นโรง ซึ่งเป็นโรงงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของ กรอ. ในเขตพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล 9 พันโรง และที่เหลืออยู่ในความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมจังหวัดที่ขึ้นตรงกับสำนักปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยคาดว่าโรงงานทั้งหมดนี้จะใช้เวลาสำรวจไม่เกิน 2 เดือน

 

อย่างไรก็ตาม จากการประเมินเบื้องต้น คาดว่ามีโรงงานที่กระบวนการผลิตและกำจัดขยะอุตสาหกรรมไม่ถูกต้องประมาณครึ่งหนึ่งของโรงงานทั้งหมด 7 หมื่นโรง หรือมีโรงงานที่ไม่ถูกต้องประมาณ 3.5 หมื่นโรง ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโรงงานเล็กๆ และบางส่วนยังขาดความเข้าใจในกระบวนการกำจัดกากอุตสาหกรรม เช่น โรงกลึงบางโรงมีการปล่อยทิ้งสารหล่อเย็นอย่างไม่ถูกต้อง หรือโรงงายเย็บเสื้อบางแห่งมีการทิ้งเศษผ้าในขยะชุมชน เป็นต้น

 

โดยในขั้นต้น กรอ. จะลงไปตักเตือนให้ปรับปรุงกระบวนการ กำจัดกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องภายใน 30 วัน และถ้าพบว่ายังไม่แก้ไข ก็จะลงโทษเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ เช่น การปิดโรงงาน ไปจนถึงโทษขั้นสูงสุดคือ ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาโรงงานส่วนใหญ่หลังถูกตักเตือนครั้งแรก ก็จะรีบแก้ไขให้ถูกต้อง จึงยังไม่มีโรงงานใดถูกลงโทษรุนแรงถึงขั้นจำคุก

 

สำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดก็คือการเผาขยะ โดยกรอ. ได้เตรียมที่จะเสนอของบประมาณปี 2558 ในการศึกษาและจัดสร้างเตาเผาขยะอุตสาหกรรมอันตราย 4 แห่ง ใน 4 ภาค โดยในพื้นที่กรุงเทพฯมีความต้องการสูงสุด ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนศึกษาหาพื้นที่ก่อสร้างที่เหมาะสม คาดว่าจะใช้งบประมาณก่อสร้างแห่งละ 3 พันล้านบาท รวมทั้ง 4 แห่งจะใช้งบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท โดยคาดว่าจะเริ่มสร้างได้หลังปี 2559 และจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2561

 

“ขั้นตอนที่ยากที่สุดก็คือการทำความเข้าใจกับชาวบ้าน และหลังจากที่กำหนดพื้นที่ก่อสร้างที่ชัดเจนได้ก็จะเร่งดำเนินการทำความเข้าใจกับชุมชน เพราะการกำจัดขยะอุตสาหกรรมด้วยการเผาเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำต่างก็ใช้วิธีการเผาขยะทั้งสิ้น ซึ่งในต่างประเทศก็ได้รับการพิสูจน์อย่างยาวนานแล้ว ว่า ไม่ก่อให้เกิดมลพิษต่อชุมชน หากเผาในเตาเผาที่ก่อสร้างอย่างถูกต้อง” รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กล่าว

 

สำหรับในปัจจุบันนี้ มีเตาเผยขยะอุตสาหกรรมอันตรายมีเพียง 1 แห่งที่ จ.สมุทรปราการ มีกำลังการกำจัดขยะ 200-300 ตันต่อวัน มีหลุมขยะอุตสาหกรรมอันตราย 3 แห่ง มีค่ากำจัดขยะ 3 พันบาทต่อตันขึ้นไป และมีบ่อขยะอุตสาหกรรมอีก 9 แห่ง มีค่ากำจัดขยะ 800 บาทต่อตัน ซึ่งในอนาคตแม้ว่าการกำจัดกากอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนที่แพงขึ้น แต่ในอนาคตทุกประเทศก็ต้องมาดำเนินการกำจัดขยะในแนวทางนี้ และมีต้นทุนที่ใกล้เคียงกัน จึงไม่กระทบต่อศักยภาพการแข่งขันของไทย ซึ่ง กรอ. ต้องใช้กฎหมายมาควบคุมให้ดำเนินการให้ถูกต้องต่อไป