ENERGY

ชพ. เผย ปี 2556 เก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมทะลุ 6.5 หมื่นล้านบาท
POSTED ON 03/03/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นางสาววรรณาภรณ์ สวัสดิมงคล รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) เปิดเผยว่า ในปี 2556 ที่ผ่านมา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสามารถเก็บค่าภาคหลวงปิโตรเลียมได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ 65,000 ล้านบาท ขณะที่ปี 2555 เก็บได้ 60,250 ล้านบาท และเมื่อรวมกับรายได้จากแหล่งพัฒนาพื้นที่ร่วมไทย-มาเลเซีย (เจดีเอ), ผลตอบแทนพิเศษเมื่อขุดเจอปิโตรเลียมมาก และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่กรมสรรพากรจัดเก็บจะกลายเป็นรายได้รัฐจากการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปี 2556 ที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 198,137 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เป็นไปตามสัดส่วนการแบ่งกำไรหลังการหักค่าใช้จ่าย ซึ่งภาครัฐจะได้รับเงินกำไรในสัดส่วน 58% ส่วนบริษัทผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลียมจะได้รับกำไร 42% อย่างไรก็ตาม รายได้รัฐทั้งหมดดังกล่าวจะถูกนำไปจัดสรรให้กับท้องถิ่นประมาณ 30,860 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นเงินที่ส่งเข้ากระทรวงการคลังทั้งหมด

 

ส่วนการเก็บค่าภาคหลวงในปี 2557 กรมเชื้อเพลิงฯ คาดการณ์ว่าจะเก็บได้ในระดับสูงใกล้เคียงกับปี 2556 เนื่องจากแหล่งผลิตก๊าซฯ ในทะเลอ่าวไทยและบนบกที่แหล่งสิริกิติ์อยู่ในช่วงที่มีกำลังการผลิตได้สูงสุด ซึ่งจะผลิตได้ระดับสูงสุดต่อเนื่องไปแค่ 5 ปี (2556-2560) จากนี้ปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ตามเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันจะทยอยลดปริมาณลง

 

ดังนั้น การจัดเก็บค่าภาคหลวงจะสามารถเก็บค่าภาคหลวงได้ระดับสูงสุดใกล้เคียงกันต่อเนื่องแค่ 5 ปี (2556-2560) เช่นกัน และจากนั้นรายได้จะเริ่มลดลงตามปริมาณก๊าซฯ ที่ผลิตได้ หากไม่มีการสำรวจหรือขุดพบแหล่งก๊าซฯ ใหม่ๆ ในประเทศเพิ่มเติม

 

นางสาววรรณาภรณ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าการเปิดประมูลแหล่งสัมปทานรอบที่ 21 นั้น ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดสัมปทานได้ เนื่องจากช่วงนี้เป็นรัฐบาลรักษาการจึงไม่สามารถสั่งการได้ ดังนั้นจึงต้องรอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่พิจารณา

 

ทั้งนี้ ตามกำหนดการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ต้องเริ่มเปิดประมูลตั้งแต่ปี 2555 แต่ช่วงนั้นเกิดการคัดค้านของชาวบ้านและยืดเยื้อมาถึงปัจจุบัน ซึ่งเลยกำหนดมา 3 ปีแล้วและยังไม่สามารถเปิดประมูลได้ โดยขณะนี้กรมเชื้อเพลิงพยายามชี้แจงและทำความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นและสาเหตุที่ต้องเปิดสัมปทานดังกล่าว อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีการเปิดรับฟังความเห็นแต่อย่างใด ซึ่งจะเปิดได้ต่อเมื่อถึงขั้นตอนการจะลงพื้นที่สำรวจจริงเท่านั้น

 

“หากไทยไม่สามารถเปิดสัมปทานรอบ 21 ได้ ผลเสียจะเกิดกับคนไทยเอง เพราะกำลังการผลิตปิโตรเลียมในไทยกำลังจะทยอยหมดลงในปี 2560 หากไม่เจอแหล่งใหม่ๆ เพิ่ม จากนั้นต้องแก้ปัญหาด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) จากต่างประเทศที่มีราคาแพงถึง 14-16 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ขณะที่ราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยแค่ 8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตัน ซึ่งจะมีผลให้คนไทยต้องจ่ายค่าพลังงานในอัตราที่สูงขึ้นในอนาคต” นางสาววรรณาภรณ์ กล่าว