ENERGY

GIZ แนะรัฐใช้ระบบ "SolarThermal" ชี้ ต้องจูงใจเอกชนเรื่องค่าชดเชยมากขึ้น
POSTED ON 19/02/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - GIZ จับมือหอการค้าไทย-เยอรมัน จี้กระทรวงพลังงานปรับหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยต้นทุนเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยระบบ Thermal ใหม่ ชี้เป็นระบบที่ดี และประหยัดกว่า PV แต่ที่เอกชนไม่เลือกลงทุน เหตุเงื่อนไขชดเชยไม่จูงใจ แถมผู้รับเหมาติดตั้งระบบใช้อุปกรณ์ราคาถูกและคุณภาพต่ำ ทำให้ระบบไร้ประสิทธิภาพ เผยถ้าเอกชนลงทุนเอง รัฐไม่จ่ายชดเชย Solar PV คืนทุนภายใน 9 ปี ขณะที่ Solar Thermal เพียง 5-6 ปีก็คืนทุนแล้ว

 

นายโทมัส โครเม็ทซ์กา ผู้อำนวยการโครงการพลังงานทดแทน องค์กรความร่วมมือไทย-เยอรมัน (GIZ) เปิดเผยว่า ขณะนี้ทาง GIZ ได้ร่วมมือกับหอการค้าไทย-เยอรมัน ในการผลักดันนโยบายโครงการพลังงานทดแทนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ระหว่างผู้ประกอบการในภูมิภาคและประเทศเยอรมนี

 

โดยในส่วนของประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนจากกระทรวงเศรษฐกิจและพลังงานของประเทศเยอรมนี (BMWi) ประมาณ 1 ล้านยูโร หรือประมาณ 44 ล้านบาท ในการดำเนินโครงการเป็นระยะเวลา 4 ปี คือ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 ถึง มกราคม 2558 และได้เริ่มโครงการนำร่องเรื่องเทคโนโลยีชีวมวล 1 แห่ง ที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการจากประเทศเยอรมนี ผู้ประกอบการไทย และชุมชนในพื้นที่ และในปีที่ผ่านมามีนโยบายผลักดันเรื่องการผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยระบบ Solar Thermal และดำเนินการต่อเนื่องไปถึงปี 2558

 

"ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกของประเทศไทย มีเป้าหมายจะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ 25% ของการใช้พลังงานของประเทศในปี พ.ศ.2564 ทางเยอรมนีเองมีประสบการณ์เรื่องการผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์มาประมาณ 50 ปีแล้ว และเห็นว่าทางประเทศไทยมีประสิทธิภาพในการผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการร่วมมือกันระหว่างบริษัทของคนไทยกับบริษัทของเยอรมันในการพัฒนาทางด้านพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน GIZ จึงพยายามผลักดันให้ระบบ Solar Thermal เป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย" นายโทมัส กล่าว

 

ที่ผ่านมาได้จัดการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกระทรวงพลังงานของประเทศไทยและประเทศเยอรมนี และได้มีการประสานความร่วมมือกับกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) เพื่อจัดให้บริษัทของประเทศเยอรมนีมาพบกับผู้ประกอบการของประเทศไทย เพื่ออบรมบุคลากรและสร้างความตระหนักในเรื่องของข้อดีที่จะได้รับโดยเฉพาะการติดตั้งระบบ เพื่อให้มีการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงพัฒนาเทคโนโลยีในการวัดผลเพื่อวัดการทำงานของระบบ Solar Thermal ให้ชัดเจนมากขึ้น

 

นายโทมัส กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่นิยมใช้เทคโนโลยีระบบผลิตความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Thermal) ในวงกว้าง เนื่องจากรัฐบาลไทยให้การสนับสนุนการติดตั้งเทคโนโลยีระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar PV) มากกว่า ด้วยการสนับสนุนราคาค่าไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ราคา 6-7 บาทต่อหน่วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถคืนทุนได้ภายใน 3-7 ปี และหลังจากนั้นยังสามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบต่อได้อีกถึง 20 ปี

 

ขณะที่นโยบายการสนับสนุนระบบ Solar Thermal จะใช้วิธีให้เงินอุดหนุน 20-30% ของมูลค่าการลงทุน ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินก้อนเดียว และการวัดค่าความร้อนให้ชัดเจน ผู้ประกอบการต้องลงทุนติดตั้งระบบเพิ่ม ทำให้การลงทุนระบบ Solar Thermal มีความน่าสนใจน้อยกว่าระบบ Solar PV ซึ่งได้ผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินชัดเจน ดังนั้นทาง GIZ จึงอยากผลักดันให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาปรับเรื่องระบบผลตอบแทนในการลงทุนระบบ Solar Thermal ให้กับผู้ประกอบการ เพราะถือเป็นระบบที่ดี และในระยะยาวประหยัดกว่า

 

ในภาพรวมประเทศไทยมีความต้องการใช้ความร้อนน้อย ยกเว้นในภาคบริการและภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ที่ต้องการความร้อนไปใช้ในการทำความสะอาดภาชนะ ขณะเดียวกันนักลงทุนไทยส่วนใหญ่จะใช้อุปกรณ์ที่มีราคาถูกและคุณภาพต่ำ เพื่อเน้นการคืนทุนในระยะสั้น และผู้รับเหมาติดตั้งระบบ

 

บางส่วนไม่มีความรู้เพียงพอ ส่งผลให้การติดตั้งระบบ Solar Thermal ขนาด 70,000 ตารางเมตร ในประเทศไทย ในปี 2551 ทำงานได้จริงเพียง 36,000 ตารางเมตรเท่านั้น ทั้งหมดนี้ทำให้ตลาดระบบ Solar Thermal ของประเทศไทยยังคงมีขนาดเล็ก และไม่ได้รับความนิยม

 

แต่ตามหลักการแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบ Solar PV หรือ Solar Thermal ก็ไม่มีเทคโนโลยีไหนที่เหมาะกับการใช้งานทุกประเภท การใช้งานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจึงต้องขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของ

 

ผู้ลงทุนเพราะระบบ Solar PV เหมาะกับการลงทุนเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ขณะที่ Solar Thermal เหมาะกับการผลิตความร้อนมากกว่าจะนำไปใช้ผลิตไฟฟ้า และถ้าไม่มีการจ่ายเงินอุดหนุนจากภาครัฐ Solar PV จะคืนทุนภายในประมาณ 9 ปี ขณะที่ Solar Thermal คืนทุนภายใน 5-6 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน

 

นอกจากนี้ การที่รัฐบาลไทยมีนโยบายลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงหลัก เช่น ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว เป็นต้น รัฐบาลไทยควรมีการกำหนดให้อาคารที่ก่อสร้างใหม่ต้องมีการใช้พลังงานส่วนหนึ่งจากพลังงานทดแทน จะช่วยให้ตลาดของระบบ Solar Thermal ขยายตัวมากขึ้น

 

"ประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนพลังงานทดแทนที่ล้ำหน้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่การจัดทำแผนด้านพลังงานของไทย ทั้งแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี) แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่มีเป้าหมายจะใช้พลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกให้ได้ 25% ใน 10 ปีนั้น ควรกำหนดแผนต่างๆ ให้มีความสอดคล้องระหว่างหน่วยงานมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อนลง" นายโทมัส กล่าว