ENERGY

กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี เซ็นซื้อขายไฟกับ กฟผ. 5,000MW
POSTED ON 11/02/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - แหล่งข่าวจากวงการพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (เครือบริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลให้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รวม 5,000 เมกะวัตต์ ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) ได้ประกาศผลไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ด้วยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยเพียง 4.2372 บาท/หน่วย แบ่งออกเป็น 2 โรง กำลังผลิตโรงละ 2,500 เมกะวัตต์ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดระยองและจังหวัดชลบุรี ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตกันอย่างกว้างขวางในวงการว่า การลงนาม PPA ครั้งนี้ เหตุใดจึงทำกันอย่างค่อนข้างเงียบ ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ระดับหลายหมื่นล้านบาท และดำเนินการอย่างรวดเร็ว

 

"อาจเป็นเพราะความกังวลของกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ที่ว่า ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ยังมีการชุมนุมยืดเยื้อ และรัฐบาลเป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ รวมถึงหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่ อาจมีการหยิบยกการประมูลโรงไฟฟ้าครั้งนี้ขึ้นมาพิจารณาใหม่ได้ โดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใส และที่สำคัญการประมูลครั้งนี้แข่งขันกันอย่างเป็นธรรมหรือไม่ด้วย เพราะการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตัดสินการประมูลให้บริษัทฯ เป็นผู้ชนะการประมูลโรงไฟฟ้าครั้งนี้เพียงรายเดียว โดยให้เหตุผลว่าอัตราค่าไฟฟ้าต่ำที่สุดเมื่อเทียบข้อเสนอจากรายอื่นๆ ที่เข้าร่วมประมูลครั้งนี้ถึง 3 สตางค์/หน่วย และยังเป็นข้อกังขาในกลุ่มผู้ยื่นประมูลจนถึงวันนี้" แหล่งข่าวกล่าว

 

หากย้อนกลับไปในช่วงของการประมูลในปี 2556 จะพบว่า วงการพลังงานตั้งข้อสังเกตถึงกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ ว่าได้เปรียบ IPP รายอื่นในหลายประเด็น ที่ตั้งโรงไฟฟ้ามีทั้งสายส่งและท่อก๊าซธรรมชาติรองรับ มีพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจอย่าง บริษัท มิตซุย จำกัด เจ้าของเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าก๊าซที่มีคุณภาพ และขนาดของโรงไฟฟ้าตรงตามที่เงื่อนไขการประมูล หรือ RFP กำหนดไว้ ในขณะที่บริษัทอื่นๆ ต่างมีข้อจำกัดที่ไม่สามารถตอบโจทย์เงื่อนไขประมูลทั้งหมดได้ อย่างเช่น บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ที่โค้งสุดท้ายต้องถอนตัวจากการประมูลเพราะที่ตั้งโรงไฟฟ้าเป็นพื้นที่สีเขียว ห้ามก่อสร้างโรงงานทุกประเภท ตามการประกาศผังเมืองใหม่ของกรมโยธาธิการและผังเมือง

 

ด้าน นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ผ่านขั้นตอนการประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สกพ.) เรียบร้อยแล้วนั้น กฟผ.จึงได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ สำหรับรายละเอียดสัญญาซื้อขายไฟฟ้า คือ กำหนดการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แบ่งเป็นโรงแรกในปี 2565 และโรงที่ 2 ในปี 2568 รวมอายุสัญญาซื้อขายประมาณ 25 ปี ในส่วนของระบบสายส่งที่จะรับไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวนั้น อยู่ในแผนก่อสร้างระบบสายส่งเพิ่มเติมของ กฟผ.ในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงจะต้องสร้างสถานีไฟฟ้ารับ-ส่ง (Substation) ประมาณ 3-4 จุด เพื่อรองรับกำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้ ยืนยันว่าไม่ได้เร่งรีบลงนามสัญญาแต่อย่างใด ทุกอย่างดำเนินไปตามขั้นตอนที่ กกพ.กำหนด แม้ว่ากำหนดเวลาผลิตไฟฟ้าเข้าระบบโรงแรกจะเหลือเวลาถึง 8 ปี แต่ทางบริษัทกัลฟ์ เอ็นเนอร์จีฯ จะต้องใช้เวลาในการดำเนินการจัดทำแบบประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) รวมถึงใบอนุญาตประกอบกิจการอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก

 

นายสุนชัย กล่าวด้วยว่า "ใน RFP หรือเงื่อนไขประมูลระบุไว้ชัดเจนว่าจะมีจุดเชื่อมต่อไฟฟ้าจาก IPP ตรงจุดใดบ้าง และยังต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสายส่งของ กฟผ.ด้วย ไม่มีประเด็นว่า กฟผ.ต้องสร้างเพิ่มเพื่อรองรับ IPP โดยเฉพาะ หรือแม้แต่ก๊าซธรรมชาติที่จะต้องป้อนโรงไฟฟ้า ที่ตั้งของโรงไฟฟ้าจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่ท่อก๊าซพาดผ่านด้วย ทั้งหมดระบุใน RFP เช่นกัน"

 

บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ บริษัท เจพาวเวอร์ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร้อยละ 90 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ร้อยละ 10 มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจไฟฟ้ามากกว่า 30 บริษัท เพื่อดำเนินธุรกิจในกิจการไฟฟ้าทั้งโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ประเภทพลังความร้อนร่วม (Cogeneration) กำลังผลิตไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) กำลังผลิตมากกว่า 100 เมกะวัตต์ ซึ่งหากโรงไฟฟ้าที่ชนะประมูลครั้งนี้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบทั้งหมดในปี 2568 จะทำให้บริษัท กัลฟ์ เจพี จำกัด กลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า IPP รายใหญ่ที่สุดของประเทศ ที่มีกำลังผลิตติดตั้งรวมประมาณ 8,990 เมกะวัตต์

 

การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าดังกล่าว อยู่ในแผนกำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP (Power Development Plan) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 (พ.ศ.2555-2573) ที่จะต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาเสริมระบบ รองรับความต้องการใหม่ที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 34,712 เมกะวัตต์ ในการประมูลโรงไฟฟ้าใหม่ครั้งนี้ นอกเหนือจากบริษัท กัลฟ์ เอนเนอร์จี้ฯ แล้ว ยังมีบริษัทผลิต ไฟฟ้าอื่นๆ เข้าร่วมประมูลด้วย เช่น บริษัท โกลว์พลังงาน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO