ENERGY

IEA แนะยุโรปต้องเร่งเสริมนโยบายพลังงาน หลังพบต้นทุนสูงกว่าสหรัฐฯ
POSTED ON 05/02/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - ไฟแนนเชียล ไทมส์ อ้างผลการศึกษาของสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ว่า ยุโรปจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาด 1 ใน 3 ของการส่งออกสินค้าที่ใช้พลังงานเข้มข้นในช่วง 2 ทศวรรษข้างหน้า เนื่องจากราคาพลังงานสูงกว่าสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง

 

หลายประเทศในสหภาพยุโรป (อียู) ทุ่มเงินอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ระงับการใช้พลังงานนิวเคลียร์และเมินการสำรวจหาแหล่งเชลก๊าซ ที่ผลักดันให้ธุรกิจผลิตพลังงานในสหรัฐฯ กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ซึ่งนโยบายข้างต้นสร้างความไม่พอใจให้กับภาคธุรกิจในยุโรป โดยกล่าวหานโยบายด้านพลังงานของอียูกำลังทำลายความสามารถในการแข่งขัน

 

นายเฟธ ไบรอล หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ของ ไออีเอ กล่าวว่า นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพียงอย่างเดียวไม่ใช่ปัจจัยหลักที่กระตุ้นต้นทุนพลังงาน แต่ราคาที่แตกต่างกันระหว่างฝั่งยุโรปกับสหรัฐฯ จะดำเนินไปอย่างยาวนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ เรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นครั้งเดียวจบ ซึ่งยุโรปไม่ได้ตระหนักถึงความร้ายแรงของประเด็นความสามารถในการแข่งขัน และสิ่งที่พึงระวัง คือ แรงงานราว 30 ล้านคนในอุตสาหกรรมหนัก อาทิ เหล็ก และปิโตรเคมีทั้งทวีปยุโรปเสี่ยงจะตกงาน"

 

ปัจจุบัน ราคานำเข้าก๊าซของยุโรปสูงกว่าสหรัฐฯ 3 เท่า ด้านราคากระแสไฟฟ้าที่ใช้ภาคอุตสาหกรรมสูงกว่า 2 เท่า ซึ่งภาวะเช่นนี้จะดำเนินไปอย่างน้อย 20 ปี อย่างไรก็ตาม แม้นักธุรกิจจะมองว่านโยบายต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของอียู โดยเฉพาะการให้เงินอุดหนุนพลังงานสะอาดคือตัวการของต้นทุนที่สูงในภาคอุตสาหกรรมยุโรป แต่นายเฟธ ไบรอล มองว่านโยบายดังกล่าวของอียูเป็นสิ่งที่น่าชื่นชม และถือเป็นความผิดพลาดที่โยนความรับผิดชอบให้นโยบายนี้ในฐานะผู้รับผิดชอบต่อปัญหาต้นทุนพลังงาน

 

"มีการกล่าวหาว่านโยบายต่อต้านโลกร้อนคือสาเหตุของราคาพลังงานที่สูง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วตัวการหลักอย่างราคานำเข้าที่สูงกลับถูกละเลย แม้แต่การอุดหนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด ซึ่งกลายเป็นภาระหนักสำหรับหลายประเทศก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลังงานมี ราคาแพง" นายเฟธ ไบรอล ระบุ

 

เนื่องจากก๊าซธรรมชาติซึ่งมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าของยุโรปมีราคาสูง ราคากระแสไฟฟ้าจึงแพงตามไปด้วย ต่างจากสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มนำเชลก๊าซที่ผลิตได้ภายในประเทศมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า ราคาจึงต่ำกว่า แทนที่จะมองว่านโยบายพลังงานจะต้องเลือกแนวทางใดแนวทางหนึ่ง ระหว่างความสามารถในการแข่งขันกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ยุโรปจำเป็นต้องหาทางสายกลางที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้ง 2 อย่าง

 

"ตัวเลือกมีตั้งแต่ผลักดันบทบาทพลังงานนิวเคลียร์และเชลก๊าซให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เจรจาปรับลดราคานำเข้าก๊าซธรมชาติ นอกจากนี้ ต้องเร่งแก้ไขจุดบกพร่องของมาตรการอุดหนุนพลังงานสะอาด ตลอดจนตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ ยุโรปต้องให้ความสนใจกับความสามารถในการแข่งขันพร้อมๆ ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม" นายเฟธ ไบรอล กล่าว