ENERGY

กกพ. เล็งออกค่าไฟฟ้าพิเศษ จูงใจอุตฯ ใหญ่ ลดแย่งไฟฟ้าภาคครัวเรือน
POSTED ON 05/02/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าพิเศษสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแรงดันสูง อาทิ ขนาด 230 เควี และ 115 เควี เพื่อจูงใจให้ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมาก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ปูนซีเมนต์ เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้าแรงดันสูงแทน เพื่อลดการแย่งชิงไฟฟ้าจากลูกค้าของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ที่ขายไฟฟ้าให้กลุ่มครัวเรือน และอุตสาหกรรมทั่วไป

 

"อัตราค่าไฟฟ้าจากระบบแรงดันสูงจะมีลักษณะเหมือนกับการขายส่งไฟฟ้าไปยังโรงงานที่เป็นลูกค้าโดยตรง ซึ่งโรงงานจะต้องซื้ออุปกรณ์เพื่อรองรับไฟฟ้าแรงดันสูงเอง แต่จะได้รับผลดีตรงที่ราคาไฟฟ้าจะถูก หรือเรียกว่าต้นทุนระดับแรงดันสูง เบื้องต้นอาจจะอยู่ที่ไม่เกิน 1-2 บาทต่อหน่วย โดยจะถูกกว่าค่าไฟฟ้าฐานซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 บาทต่อหน่วย ซึ่งตัวเลขอัตราค่าไฟฟ้าแรงดันสูงจะต้องหารือร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน คาดว่าจะมีความชัดเจนเร็วๆ นี้ หรืออย่างช้าภายในกลางปีนี้" นางพัลลภา กล่าว

 

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยังเสนอให้พิจารณาการปรับลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางคืนให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการเดินเครื่องผลิตช่วงกลางคืนแทน ลดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีก) ช่วงกลางวันแทน แต่ กกพ.เห็นว่าปัจจุบันมีอัตราไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Tariff : TOU Tariff) ใช้อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงพีกคือตั้งแต่เวลา 09.00 - 22.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ อัตราค่าไฟฟ้าจะอยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าอยู่ในช่วงออฟพีก คือตั้งแต่ เวลา 22.00 - 09.00 น. วันจันทร์ - วันศุกร์ และเวลา 00.00 - 24.00 น. วันเสาร์ - วันอาทิตย์ วันแรงงานแห่งชาติ และวันหยุดราชการตามปกติ (ไม่รวมวันพืชมงคลและวันหยุดชดเชย) อัตราค่าไฟฟ้าก็จะถูกลงมา แต่อาจแตกต่างกันไม่ถึง 50% ตามที่ ส.อ.ท. เสนอมา ซึ่งเรื่องนี้จะต้องศึกษารายละเอียดอีกครั้ง

 

นางพัลลภา กล่าวเสริมด้วยว่า "ขณะนี้ กกพ. อยู่ระหว่างศึกษาค่าไฟฐานใหม่ ซึ่งรวมถึงการศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าจากระบบแรงดันสูง และมิเตอร์เติมเงินด้วย ซึ่งได้ศึกษาไปพร้อมกัน และจะได้ข้อสรุปออกมาเร็วๆ นี้ แต่สิ่งที่อยากผลักดันคือ การจูงใจให้กลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่หันมาใช้ไฟฟ้าระบบแรงดันสูง เพราะนอกจากจะลดการแย่งชิงไฟฟ้าในระบบปัจจุบันแล้ว ยังลดต้นทุนเรื่องการลงทุนหม้อแปลงไฟฟ้าที่ต้องนำไฟฟ้าแรงดันสูงมาแปลงเป็นแรงดันต่ำ หากมีข้อสรุป ก็จะเปิดรับสมัคร ซึ่งเงื่อนไขจะต้องเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก ส่วนอัตราค่าไฟจะเป็นเท่าไรต้องศึกษาความเหมาะสมอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าถูกกว่าค่าไฟฐานค่อนข้างมาก"

 

ด้าน นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2557 ที่ผ่านมา กลุ่มได้เข้าไปหารือกับ ผู้ว่าการ กฟผ. ในเรื่องของการปรับลดค่าไฟฟ้าในช่วงกลางคืนลงประมาณ 50% ให้กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อดึงดูดให้โรงงานหันมาเดินเครื่องจักรในช่วงกลางคืน เพื่อลดพีกในช่วงกลางวันลง คาดว่าจะลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวันลงได้กว่า 5 พันเมกะวัตต์ ทำให้ลดภาระในการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ได้ไม่ต่ำกว่า 5 โรง

 

"อัตราไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ หรือ ทีโอยู เรท ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่จูงใจภาคอุตสาหกรรมมากนัก ซึ่งอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ใช้ ได้แก่ โรงน้ำแข็ง เพราะใช้คนงานน้อย แต่ใช้ไฟฟ้าในระบบทำความเย็นสูง ส่วนอุตสาหกรรมอื่นๆ ยังไม่ค่อยสนใจมากนัก เนื่องจากต้องนำต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ถูกลงมาเทียบกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะค่าแรงในช่วงกลางคืนมักจะแพงกว่ากลางวัน แต่เชื่อว่าการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวจะช่วยบริหารพีกลงได้มาก" นายพิชัย กล่าว

 

ขณะที่ นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยกรณี ส.อ.ท.เสนอลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางคืนสำหรับภาคอุตสาหกรรม 50% เพื่อจูงใจให้เปลี่ยนเวลาเดินเครื่องจักรจากกลางวันเป็นกลางคืนนั้น แม้ว่าจะช่วยลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน และบริหารพีกได้ แต่เรื่องนี้คงต้องศึกษาให้ละเอียดเพราะอัตราการจ้างงานล่วงเวลาจะแพงกว่าปกติ ขณะเดียวกันปัจจุบันก็มีอัตราไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ หรือ ทีโอยู เรท อยู่แล้ว แต่ส่วนต่างอาจยังไม่จูงใจมากนัก อย่างไรก็ตาม กฟผ.จะต้องศึกษาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพีด้วย