ENERGY

การเมืองป่วนพ่วงบาทอ่อน คาด ค่าไฟฟ้างวดใหม่อาจแพงขึ้น
POSTED ON 04/02/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า ค่าเอฟทีงวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค.2557)มีความเสี่ยงที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราปัจจุบัน 59 สต./หน่วย เพราะเดิมก็มีปัญหาก๊าซบงกช ก๊าซเจดีเอจะหยุดซ่อมในเดือนเมษายนและมิถุนายน ตามลำดับ ทำให้ใช้น้ำมันมาผลิตไฟฟ้าต้นทุนสูงขึ้นกว่าก๊าซ

 

ขณะเดียวกัน จากน้ำต้นทุนในเขื่อนปีนี้ต่ำทั้งเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ หากวางแผนปล่อยน้ำลดลงทำให้ส่วนช่วยต้นทุนจากน้ำที่ต่ำมาช่วยได้น้อยลง และยิ่งหากค่าราคาน้ำมันแพงขึ้น และเงินบาทอาจอ่อนค่าลงไปอีก รวมถึงผลของปัญหาการเมือง ทำให้การใช้ไฟฟ้าต่ำกว่าประมาณการ ก็จะเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเช่นกัน

 

นายสุนชัย กล่าวด้วยว่า หากเศรษฐกิจชะลอตัวต่ำกว่าคาด ซึ่งไม่ว่าจะเกิดปัญหาจากการการเมืองและอื่นๆ ก็จะทำให้การใช้ไฟฟ้าปี 2562 มีทิศทางเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่คาดว่าความต้องการจะสูงกว่ากำลังผลิตเป็นกำลังผลิตสูงกว่าความต้องการ ซึ่ง กฟผ.จะต้องปรับแผนงานให้เหมาะสม โดยในปี 2556 ความต้องการใช้ขยายตัวร้อยละ 0.11 จากเดิมคาดการณ์ขยายตัวร้อยละ 4 โดยใช้ไฟฟ้า 170,000 ล้านหน่วย ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจและอากาศที่หนาวเย็น ส่วนปีนี้คาดว่าการใช้ไฟฟฟ้าจะโตร้อยละ 3-4 หรือ 180,000 ล้านหน่วย จากการคาดการณ์จีดีพีขยายตัวร้อยละ 4 ซึ่งคงจะต้องมาดูกันว่าจีดีพีจะเป็นอย่างไร

 

สำหรับโครงการเร่งด่วนที่ต้องเสนอขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบให้ ครม.อนุมัติก่อสร้างเร่งด่วน เพื่อความมั่นคงไฟฟ้า ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะ 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 36,000 ล้านบาท และสายส่งไฟฟ้า 500 เควี 60,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันการที่เป็น ครม.รักษาการก็ส่งผลอาจทำให้โครงการกองทุนสาธารณูปโภค 17,000 ล้านบาท ที่เดิมคาดจะออกจำหน่ายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.2557 อาจต้องเลื่อนออกไป

 

กฟผ.คงต้องใช้เงินสภาพคล่องในการลงทุนไปก่อน โดยปี 2557 กฟผ.ต้องใช้เงินลงทุน 39,000 ล้านบาท ทั้งโรงไฟฟ้าใหม่และระบบสายส่ง ส่วนปี 2558 จะมีเงินลงทุน 31,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องกู้หรือออกพันธบัตร หรือใช้กองทุนสาธารณูปโภคดำเนินการมากน้อยเท่าใด คงจะต้องพิจารณาถึงความจำเป็น และที่สำคัญต้องดูถึงนโยบายรัฐบาลใหม่ด้วยว่าจะให้ กฟผ.ร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าเอฟทีของประชาชน จนกระทบต้นทุนการเงินของ กฟผ.หรือไม่ ซึ่งงวดที่ผ่านมา กฟผ.รับภาระให้ก่อน 5 สต./หน่วย หรือกว่า 1,000 ล้านบาท