ENERGY

กฟผ.จ่อลงทุน 2 โปรเจคยักษ์กว่า 9 หมื่นล้านบาท เร่งปรับระบบสายส่งไฟฟ้า
POSTED ON 30/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า ขณะนี้เรกูเลเตอร์อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็น (ระหว่างวันที่ 28 ม.ค. ถึง 3 ก.พ.2556) 2 โครงการสำคัญ ได้แก่ (1) โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ซึ่งรับผิดชอบโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เงินลงทุน 63,200 ล้านบาท และ (2) โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ 1 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) วงเงินลงทุนประมาณ 26,900 ล้านบาท

      

สำหรับโครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคตะวันตกและภาคใต้เพื่อเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้านั้น มาจากกรณีเหตุการณ์ไฟดับ 14 จังหวัดเมื่อ 21 พ.ค.2556 ที่ผ่านมา ทำให้กระทรวงพลังงานมอบหมายให้ กฟผ.ปรับปรุงระบบไฟฟ้าเชื่อมไปยังภาคใต้ใหม่ให้เพียงพอต่อความต้องการในระยะยาว โดย ระยะแรกจะเสร็จปี 2562 และระยะ 2 เสร็จปี 2565 การลงทุน เช่น ก่อสร้างสายส่ง 500 เควี จอมบึง-บางสะพาน 2 วงจรคู่ สร้างสายส่ง 500 เควี บางสะพาน 2-สุราษฎร์ธานี 2 วงจรคู่ พร้อมติดตั้งระบบไฟเบอร์ออปติก (เคเบิลใยแก้วนำแสง) เป็นต้น

      

ทั้งนี้ แหล่งเงินทุน กฟผ.ระบุว่า กรณีซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศจะพิจารณาจากหลายแหล่งเงินทุน ได้แก่ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการส่งออก-นำเข้า ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงินเอกชน ต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ เงินรายได้ของ กฟผ. และสินเชื่อผู้ขาย ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้าง กฟผ.จะพิจารณาแหล่งเงินลงทุน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงินเอกชนในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศ และเงินรายได้ กฟผ.

      

ส่วนโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าในเมืองใหญ่ระยะที่ 1 จุดประสงค์เพื่อปรับปรุงและติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมในพื้นที่เมืองใหญ่ให้มีความปลอดภัยและเพิ่มความเชื่อถือได้ของระบบไฟฟ้า ทำให้ระบบไฟฟ้ามีความมั่นคงและภูมิทัศน์ที่สวยงาม โดยจะดำเนินการระหว่างปี 2557-2561 ซึ่ง กฟภ.ได้ทำการคัดเลือกเมืองใหญ่ที่จะดำเนินการตามความเหมาะสมได้ทั้งสิ้น 12 เมืองใหญ่ คือ

      

(1) เทศบาลนครเชียงใหม่ (2) พิษณุโลก (3) ลพบุรี (4) ขอนแก่น (5) อุบลราชธานี (6) นครราชสีมา (7) รังสิต (8) เมืองพัทยา (9) สมุทรสาคร (10) หัวหิน (11) ภูเก็ต และ (12) หาดใหญ่ โดยขอบเขตการดำเนินงานทั้งหมดของโครงการพัฒนาจะมีการก่อสร้างสายส่งทั้งเหนือดินและใต้ดิน ซึ่งมีระยะทาง 38.64 วงจรกิโลเมตร และ 95.58 วงจรกิโลเมตร ตามลำดับ และจะติดตั้งเคเบิลใยแก้วนำแสงทั้งหมด 329 วงจรกิโลเมตร