ENERGY

ไทย-ลาว ร่วมเปิดเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ เล็งขยายเป็นศูนย์กลางผลิตไฟฟ้าเอเชีย
POSTED ON 30/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา ท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว พร้อมด้วย ท่านทอนแก้ว เจ้าเมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ท่านดร.บุญถึง เพ็งทะวงสา หัวหน้าห้องว่าการ กระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว นางอุนนดา พฤฒินารากร ประธานบริษัท SCI เมนูเฟคเจอเรอร์ จำกัด ผู้ประกอบการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าของไทย นายพิสิษฐ อ้นมา ประธานบริษัท แม่โขง ไอ วี เอ็ม จำกัด และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทั้งทางการไทยและลาว ร่วมเปิดใช้งานเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าน้ำตกตาดสะแลน แห่งแรกของเมืองเซโปน แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว อย่างเป็นทางการ ด้วยงบก่อสร้างกว่า 300 ล้านบาท

 

ภายใต้การลงทุนของผู้ประกอบการไทย 100%  คือ บริษัท SCI เมนูเฟคเจอเรอร์ จำกัด มีกำลังผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 32 เมกะวัตต์ ดำเนินการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2010 แล้วเสร็จเมื่อปี 2012 ทดลองใช้งานเป็นเวลาประมาณอีก 1 ปี จนกระทั่งมีความพร้อมในเรื่องระบบผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้กับไฟฟ้าของทางการลาว ในระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี ที่จะส่งจ่ายไปใช้ในครัวเรือนตามหมู่บ้านต่างๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ 

 

นอกจากนี้ ในอนาคตทางการลาวได้ร่วมกับผู้ประกอบการไทย เตรียมพร้อมขยายโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าที่ไร้ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รองรับการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าของไทยในอนาคต ซึ่งทางการลาวมีเป้าหมายในปี 2019 จะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกว่า 50 แห่ง มูลค่าการก่อสร้างตั้งแต่ 300 – 4,000 ล้านบาท เพื่อจะเป็นประเทศศูนย์กลางในการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญ ภายใต้ชื่อ "แบตเตอรี่แห่งเอเชีย" ในอนาคต ที่จะมีการผลิตมูลค่าเป็นเงินปีละหลาย 1,000 ล้านบาท

 

ท่านคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและบ่อแร่ สปป.ลาว กล่าวว่า สำหรับ สปป.ลาว ถือว่าเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตพลังงานไฟฟ้าสูง เนื่องจากมีสภาพภูมิประเทศเอื้ออำนวย บวกกับทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ โดยทางรัฐบาลลาวมีแนวทางนโยบายในการที่จะพัฒนาก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ ผลิตกระแสไฟฟ้าต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำมีมากกว่า 30 แห่ง ที่ดำเนินก่อสร้างแล้วเสร็จ มีกำลังผลิตไฟฟ้าตั้งแต่ 1 – 1,000 เมกกะวัตต์ และมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่อีก 2 -3 แห่ง ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 300 – 400 เมกกะวัตต์

 

เช่นเดียวกันกับเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำตกตาดสะแลน ถือเป็นอีกจุดหนึ่งที่เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จ มีผู้ประกอบการลงทุนจากไทย คือ บรัท เอสซีไอ มาลงทุนประมาณ 30 ล้าน ในการก่อสร้างสัมปทานประมาณ 30 ปี ในกำลังการผลิต 32 เมกกะวัตต์ ถือเป็นความสำเร็จจุดแรกของแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ทำให้ประชาชนชาวลาวบางพื้นที่ยังขาดแคลนไฟฟ้าได้ใช้ไฟฟ้าส่องสว่าง และประกอบอาชีพหัตถกรรม อุตสาหกรรม และรองรับการขยายความเติบโตของเมือง 

 

ในอนาคตประมาณปี 2016 ลาวจะมีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำกว่า 30 แห่ง มีกำลังการผลิตประมาณ 5,000 เมกกะวัตต์  และในปี 2019 จะมีมากกว่า 50 แห่ง ที่สามารถมีกำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 7,000 เมกกะวัตต์ โดยจะขยายโครงการต่อเนื่องไปถึงปี 2020 

 

ทั้งนี้ ถือเป็นความสำเร็จของรัฐบาลลาวที่สามารถสร้างความร่วมมือในการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ กลายเป็นภารกิจสำคัญที่สามารถดึงนักลงทุนจากไทยมาลงทุนเป็นเงินมหาศาล พร้อมจะขยายโครงการต่อเนื่องไปยังระบบสายส่งทั่วประเทศ ซึ่งปัจจุบันทำให้ สปป.ลาว มีไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่กว่า 86% ถือเป็นความสำเร็จของ สปป.ลาว ในการพัฒนาโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ และพร้อมที่จะขับเคลื่อนโครงการขยายกำลังส่งไปสู่ประเทศใกล้เคียง ทั้งไทย เวียดนาม และจีนรองรอบปัญหาการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้า เตรียมพร้อมพัฒนาให้ สปป.ลาว เป็นศูนย์กลางการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของเอเชีย โดยคาดว่าจะสร้างมูลค่าเงินปีละหลาย 1,000 ล้านบาท

 

ด้าน นางอุนนดา พฤฒินารากร ประธานบริษัท SCI เมนูเฟคเจอเรอร์ จำกัด ผู้ประกอบการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำผลิตกระแสไฟฟ้าของไทย กล่าวว่า เดิมทางบริษัทน ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าครบวงจรมายาวนานกว่า 40 ปี จนเป็นที่ยอมรับของประเทศไทย ทำให้มีศักยภาพ และความมั่นคงในการพัฒนาฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านในรูปแบบอื่นๆ นอกจากการผลิตอุปกรณ์เกี่ยวกับการไฟฟ้า จนได้รับคำแนะนำจาก นายพิสิษฐ อ้นมา ประธานบริษัทแม่โขง ไอวีเอ็ม ที่มีศักยภาพในการเจรจาลงทุนกับทางการลาว เป็นที่มาของการประสบความสำเร็จในการลงทุนก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในลาวเป็นจุดแรก คือ เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ น้ำตกตลาดสะแลน กำลังการผลิต 3.2 เมกกะวัตต์ เพื่อขายกระแสไฟฟ้าให้ทางการไฟฟ้าลาว ในระยะเวลาสัมปทานประมาณ 30 ปี  ถือเป็นการเริ่มต้นในการก่อสร้างโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกของแขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว ที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2010 - 2012  และทดลองใช้งานมาเป็นเวลา 1 ปี  สามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 14.3 ล้านหน่วยต่อไป และในปี 2014 คาดว่าจะสามารถผลิตได้ไม่ต่ำกว่า 16.5 ล้านหน่วยต่อปี มูลค่าเป็นเงินไม่ต่ำกว่าปีละ 40 -50 ล้านบาท   

 

ทั้งนี้ ทางบริษัทน ยอมรับว่าเป็นการลงทุนที่มั่นคง สอดคล้องแนวทางการพัฒนาตามนโยบายของรัฐบาลลาว ที่ต้องการพัฒนาโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำต่อเนื่องให้ลาวเป็นศูนย์กลางการผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญของเอเชีย ส่งผลดีต่อไทยที่ไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอจากปัญหาความไม่เอื้ออำนวยด้านต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไทยต้องซื้อพลังงานไฟฟ้าจากลาว ปีละประมาณ 10,000 เมกกะวัตต์  

 

ที่สำคัญในการดำเนินการก่อสร้างได้เน้นในเรื่องของผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมากที่สุด โดยทางการลาวได้กำหนดให้ดำเนินการภายใต้กรอบข้อตกลงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และไม่มีการทำลายธรรมชาติเป็นหลัก และในอนาคตกำลังขยายโครงการก่อสร้างต่อเนื่อง เพื่อเป็นฐานการผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของเอเชียตามแผนพัฒนาประเทศของรัฐบาลลาว ที่จะเป็นการดึงดูดนักลงทุนหลายประเทศเข้าไปลงทุนก่อสร้างจำนวนมาก กลายเป็นธุรกิจก่อสร้างที่ ที่จะทำเงินหมุนเวียนสะพัดลำดับต้นๆ เตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน