ENERGY

เสนอรัฐเปลี่ยนโครงสร้างชนิดน้ำมัน เลิกใช้โซฮอล์ 91 หนุนใช้อี 20
POSTED ON 31/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี นายกสมาคมผู้ค้าผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่สถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ ผู้บริหารกระทรวงพลังงาน ควรจะใช้โอกาสนี้เร่งหามาตรการในการส่งเสริมการใช้เอทานอลให้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยทันที เพื่อผลักดันให้การใช้เอทานอลขึ้นไปอยู่ในระดับ 3 ล้านลิตรต่อวันภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีความต้องการใช้อยู่ที่ 2.8-2.9 ล้านลิตรต่อวัน

 

โดยเฉพาะการให้ประชาชนหันมาใช้แก๊สโซฮอล์อี 20 และ อี 85 เพิ่มมากขึ้น จะด้วยมาตรการใดก็แล้วแต่ หากส่งเสริมได้ก็มีโอกาสที่ความต้องการใช้เอทานอลจะสูงขึ้นเป็น 3.2-3.5 ล้านลิตรต่อวันได้ ขณะเดียวกันกระทรวงพลังงานควรมีนโยบายที่จะเปลี่ยนโครงสร้างชนิดน้ำมันสำเร็จรูปใหม่ โดยยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 (อี 10) และเปลี่ยนมาใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นพื้นฐานของน้ำมันเบนซินแทน เนื่องจากปริมาณรถยนต์ใหม่เพิ่มมากขึ้นทุกวัน หากสามารถดำเนินการได้ เชื่อว่าจะทำให้ความต้องการใช้เอทานอลปรับเพิ่มเป็นกว่า 4 ล้านลิตรต่อวันได้

 

ทั้งนี้ กำลังการผลิตเอทานอลในประเทศปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 4.4-4.5 ล้านลิตรต่อวัน แบ่งเป็นเอทานอลจากกากน้ำตาลหรือโมลาส อยู่ที่กว่า 2 ล้านลิตรต่อวัน และเอทานอลจากมันสำปะหลัง ขณะนี้ผลิตจริงอยู่ที่ 1.5-1.6 ล้านลิตรต่อวัน แต่ได้รับยืนยันจากผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังว่าจะเพิ่มกำลังการผลิต ทั้งในส่วนของการขยายกำลังการผลิตและโรงงานใหม่ เพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านลิตรต่อวันภายในปีนี้

 

ส่วนกรณีกระทรวงพลังงานขอความร่วมมือจากผู้ค้ามาตรา 7 เพื่อรับซื้อเอทานอลจากมันสำปะหลังสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากปีก่อนอยู่ที่ 38% และเอทานอลจากโมลาส 62% นั้น หากในปีนี้สามารถขยับสัดส่วนเอทานอลจากมันสำปะหลังเพิ่มเป็น 40-45% ก็นับว่าเก่งมากแล้ว เนื่องจากนโยบายดังกล่าวเป็นการขอความร่วมมือจากผู้ค้ามาตรา 7 ไม่ใช่กฎบังคับ ดังนั้น จึงได้รับความร่วมมือจากผู้ค้ามาตรา 7 บางรายเท่านั้น

 

นายสิริวุทธิ์ กล่าวว่า "กรณีผู้ผลิตเอทานอลบางรายต้องการให้ภาครัฐอิงราคาขายเอทานอลเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด เชื่อว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากต้นทุนผลิตต่างกัน โดยปัจจุบันราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังอยู่ที่ 27-28 บาทต่อลิตร ส่วนเอทานอลจากโมลาสอยู่ที่ 25-26 บาทต่อลิตร ดังนั้นการที่จะให้ผู้ค้ามาตรา 7 จะซื้อเอทานอลในราคาที่อิงเอทานอลจากมันสำปะหลังซึ่งแพงกว่านั้น ก็คงไม่มีใครยอม เพราะทุกคนต้องการของถูกก่อน จากนั้นค่อยซื้อของแพงทีหลัง อย่างไรก็ตามเชื่อว่าเรื่องนี้ไม่เป็นปัญหาต่อผู้ผลิตเอทานอล"

 

ด้าน นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือให้ผู้ค้าน้ำมันเพิ่มสัดส่วนการใช้เอทานอลจากมันสำปะหลัง โดยมุ่งให้เกิดการใช้หัวมันสดเป็น 3 ล้านตันต่อปี จากปี 2556 ที่ใช้อยู่ 1.6 ล้านตัน ดังนั้นกระทรวงพลังงานคงต้องพิจารณาสัดส่วนใหม่ โดยในปี 2556 ใช้สัดส่วนเอทานอลจากโมลาสที่ 62% และมันสำปะหลังที่ 38% ซึ่งในปีนี้สัดส่วนอาจเป็น 60% ต่อ 40% โดยต้องพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง

 

ขณะที่ นายชลัช ชินธรรมมิตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายพัฒนาธุรกิจ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ เคเอสแอล เปิดเผยว่า ภาครัฐควรปรับราคาขายอ้างอิงเอทานอลทั้งจากมันสำปะหลังและโมลาส ให้เป็นราคาเดียวกันทั้งหมด จากปัจจุบันยังใช้ 2 ราคา โดยราคาเอทานอลจากโมลาส อยู่ที่ประมาณ 25 บาทต่อลิตร ส่วนเอทานอลจากมันอยู่ที่ประมาณ 28 บาทต่อลิตร ทั้งนี้เอทานอลจากมันสำปะหลังราคาแพง ก็คงไม่มีผู้ค้าน้ำมันรายใดอยากซื้อ เพราะต้นทุนจะแพงกว่าเอทานอลจากโมลาส

 

นอกจากนี้ หากราคาเอทานอลจากมันสำปะหลังยังราคาแพงกว่า จะทำให้ผู้ผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น เพราะจำหน่ายได้ในราคาแพงกว่า ซึ่งทำให้ภาครัฐต้องจ่ายเงินชดเชยคอยช่วยเหลือ ดังนั้นหากในอนาคตสามารถทำราคาเอทานอลให้เป็นราคาเดียวกัน เชื่อว่าจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งลดภาระของภาครัฐด้วย