ENERGY

ปตท.สผ. เผย แหล่ง ?ซอติก้า? พร้อมจ่ายก๊าซฯ ให้พม่า ก.พ.นี้
POSTED ON 28/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งซอติก้า (Zawtika) แปลงเอ็ม 9 ในประเทศเมียนมาร์ ได้เข้ามายังแท่นผลิตกลางแล้วคาดว่าจะสามารถส่งก๊าซฯ ให้พม่าได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 นี้ โดยปริมาณก๊าซฯ ที่จะป้อนได้ตามที่รัฐบาลเมียนมาร์เสนอซื้ออยู่ที่ 100 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน จากเดิม 60 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ขึ้นอยู่กับความต้องการของเมียนมาร์ ส่วนปริมาณก๊าซฯ อีก 240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ที่จะส่งเข้าไทยนั้นคาดว่าจะเริ่มส่งก๊าซฯ ได้ในเดือนเมษายน 2557 นี้

 

ทั้งนี้ แหล่งซอติก้าอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ ห่างจากเมืองย่างกุ้งประมาณ 300 กิโลเมตร มี บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการ มีปริมาณสำรองพิสูจน์แล้วขั้นต้นประมาณ 1.4 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ราคาก๊าซฯ ของแหล่งซอติก้าเทียบเคียงได้กับแหล่งก๊าซฯ ยาดานา และเยตากุน

 

สำหรับปริมาณการขายปิโตรเลียมในไตรมาส 1/2557 จะต่ำกว่าเป้าหมายที่บริษัทฯ ตั้งไว้ 3.37 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากช่วงนี้อากาศหนาวเย็นนาน ทำให้กระทบปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งสิริกิติ์ (เอส 1) ลดลงจากเดิมที่ปลายปีผลิตได้ 3.2 หมื่นบาร์เรล/วัน เหลือเพียง 3.1 หมื่นบาร์เรล/วัน และปริมาณการผลิตก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้ายังรับรู้ได้น้อย รวมทั้งปริมาณน้ำมันดิบที่ผลิตได้จากแหล่งมอนทารา ที่ออสเตรเลียก็ยังคงผลิตได้เพียง 1.5 หมื่นบาร์เรล/วันจากเป้าหมายทั้งปี 2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ขณะที่ยอดการใช้ก๊าซฯ ในประเทศก็ไม่ได้ลดลง

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ยังมีความมั่นใจว่าในปีนี้จะบรรลุเป้าหมายยอดขายปิโตรเลียมที่ตั้งไว้ 3.37 แสนบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้น 16% จากปีก่อน เพราะรับรู้ปริมาณการผลิตและขายปิโตรเลียมจากแหล่งซอติก้า แหล่งมอนทารา และแหล่ง Natuna Sea A ที่อินโดนีเซีย ซึ่งเพิ่งชนะประมูลซื้อหุ้นบริษัทย่อย Hess Corporation ในอินโดนีเซีย ส่วนการซื้อหุ้นของ Hess ในไทยที่ถือหุ้นในแหล่งภูฮ่อมและแหล่งไพลินนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า คงต้องรอให้ Hess สรุปราคาที่มีผู้ประมูลซื้อหุ้นดังกล่าวก่อน หลังจากนั้นบริษัทฯ จึงจะพิจารณาว่าจะใช้สิทธิในการเข้าซื้อก่อนในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมหรือไม่ คาดว่าไม่เกินไตรมาส 1 นี้จะมีความชัดเจน

 

ส่วนความวุ่นวายทางการเมืองในช่วงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแผนการลงทุนของบริษัทฯ ที่วางไว้ เพราะได้กำหนดเป็นแนวทางชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีการลงทุนทั้งสิ้น 45 โครงการ 12 ประเทศ อยู่ในประเทศไทยคิดเป็น 47% ของการลงทุนทั้งหมด อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ อยู่ระหว่างการทบทวนการลงทุนโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาจจะยกเลิกการลงทุนบางโครงการ คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะมีความชัดเจน

 

ก่อนหน้านี้ บริษัทฯ ได้คืนแปลงสัมปทานโครงการนิวซีแลนด์ เกรทเซาท์ ซึ่งอยู่นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของเกาะใต้ ประเทศนิวซีแลนด์ โดยโครงการนี้บริษัทฯ เป็นผู้ร่วมทุนกับ Shell GSB (Shell NZ) ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯ ไม่มีการลงทุนใดๆ ในนิวซีแลนด์เพิ่มเติมอีก รวมทั้งบริษัทอยู่ระหว่างการทบทวนการลงทุนโครงการออยล์แซนด์ เคเคดี ที่แคนาดา เนื่องจากเป็นโครงการที่มีต้นทุนการผลิตสูงทำให้ขาดทุนมาตลอด ซึ่งโครงการนี้ ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ 40%

 

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ตั้งงบลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) อยู่ที่ 27,282 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยปีนี้บริษัทฯ จะใช้งบลงทุนรวม 5.50 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อมุ่งเน้นรักษาระดับการผลิตในประเทศและเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2563 จะผลิตปิโตรเลียมได้ 6 แสนบาร์เรล/วัน ทำให้บริษัทฯ ต้องแสวงหาโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนโครงการผลิตน้ำมันและก๊าซฯ ในชั้นหินดินดาน (SHALE GAS/SHALE OIL) ที่สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ คาดว่าภายใน 1-2 ปีจะมีความชัดเจน โดยเบื้องต้นสนใจลงทุนไม่ต่ำกว่า 20%