ENERGY

กฟภ. ขยายการลงทุนสู่ประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมลุยพลังงานทดแทน
POSTED ON 21/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ พีอีเอ เปิดเผยว่า ปัจจุบันเอ็นคอมมีแผนลงทุน 5 ปี (พ.ศ.2556-2560) แล้ว 300 เมกะวัตต์ มูลค่ารวม 3 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าก๊าซชีวภาพและโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าขยะ และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนสาเหตุที่ไม่ลงทุนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหินขนาดใหญ่นั้น เนื่องจากไม่ต้องการทับซ้อนกับการลงทุนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดียวกัน

 

ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ กฟภ.จะลงทุนผ่านเอ็นคอม ซึ่ง กฟภ.เป็นที่ปรึกษาให้ ปัจจุบันมีงานที่ลงทุนในต่างประเทศหลายโครงการทั้งใน สปป.ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยโครงการสายส่งไฟฟ้าระยะทาง 200 กิโลเมตร จากเขื่อนน้ำฮำและน้ำงาว ใน สปป.ลาว ขนาด 5 เมกะวัตต์ต่อแห่ง ทาง สปป.ลาวจะเป็นผู้ลงทุน และให้เอ็นคอมเป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยโครงการนี้มูลค่าประมาณ 1 พันล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ คาดว่าผลการศึกษาจะแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน

 

ส่วนโครงการลงทุนสายส่งไฟฟ้าในเมียนมาร์แบ่งเป็นการปรับปรุงระบบไฟฟ้าใน 2 เมือง และการให้บริการในเขตอุตสาหกรรมทวาย ขณะที่ในมาเลเซียจะเป็นความร่วมมือด้านการฝึกอบรมพนักงาน ขณะที่สถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าปี 2557 คาดว่าจะเติบโต 5% จากปีนี้ ซึ่งต่ำกว่าประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 7% มาจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่การส่งออกและท่องเที่ยวก็ชะลอตัวเช่นกัน

 

นายนำชัย กล่าวว่า ขณะนี้ กฟภ.อยู่ระหว่างเจรจากับบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อเข้าถือหุ้นใน บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งปัจจุบัน กฟภ.ถือหุ้น 100% เนื่องจากต้องการลดความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อความสะดวกต่อการลงทุนในอนาคต ในเบื้องต้นอยู่ระหว่างศึกษาสัดส่วนการถือหุ้น โดย กฟภ.จะลดสัดส่วนเหลือ 40% ขณะที่เอ็กโกหรือราชบุรีฯ ถือหุ้นอีก 30% จากนั้นก็จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ MAI โดยเสนอขายหุ้นใหม่แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) สัดส่วน 30% ภายในปี 2560 เนื่องจากต้องรอให้บริษัทมีกำไร 3 ปี ตามระเบียบของตลาดหลักทรัพย์ฯ ก่อน

 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องการลดสัดส่วนความเป็นรัฐวิสาหกิจของเอ็นคอม เนื่องจากที่ผ่านมาการเข้าไปลงทุนของบริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจจะมีขั้นตอนยุ่งยาก ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ จากนั้นจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป