ENERGY

อากาศหนาวบวกการเมืองวุ่น ดึงการใช้ไฟฟ้าลดลง ตัวเลขใช้ไฟฟ้าปีนี้อาจโตแค่ 2%
POSTED ON 17/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย ผู้ช่วยผู้ว่าการควบคุมระบบกำลังไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างรอความชัดเจนตัวเลขปรับประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อนำมาปรับประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้ ที่มีแนวโน้มจะลดลง จากช่วงต้นปีคาดว่าจะเติบโต 4-4.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้อาจได้รับผลกระทบจากการเมือง ทำให้จีดีพีอาจเติบโตไม่ถึงเป้า ดังนั้น จึงต้องปรับยอดใช้ไฟฟ้าใหม่ด้วย

 

"ประกอบกับอากาศที่หนาวยาวนาน ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม 2556 พบว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปีนี้ ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ในปีนี้อาจต้องปรับใหม่อีกครั้ง จากเดิมที่มีการคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดช่วงหน้าร้อนปีนี้จะสูงถึง 2.7206 หมื่นเมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ประมาณ 2.65 หมื่นเมกะวัตต์ โดยคาดว่าการปรับประมาณการตัวเลขดังกล่าวจะมีความชัดเจนภายในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2557 หากปรับพีคลงมาได้มาก จะช่วยให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนสูงขึ้น และช่วยลดผลกระทบจากการหยุดส่งก๊าซจากการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในอ่าวไทยด้วย" นายชนินทร์ กล่าว

 

ส่วนกรณีปิดซ่อมแหล่งก๊าซเยตากุนในสหภาพเมียนมาร์เมื่อช่วง 31 ธันวาคม 2556 ถึง 14 มกราคม 2557 ที่ผ่านมา เป็นไปตามแผน ซึ่ง กฟผ. ได้เตรียมแผนเพื่อรองรับแผนปิดซ่อมแหล่งบงกชในช่วงเดือนเมษายน 2557 และปิดซ่อมแหล่งก๊าซพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียในช่วงเดือนมิถุนายน 2557 นี้ ซึ่งการปิดซ่อมแหล่งบงกช ไม่น่าห่วง เพราะสามารถดึงก๊าซจากแหล่งอื่นในอ่าวไทยมาทดแทนได้ แต่ยังห่วงการปิดซ่อมแหล่งเจดีเอ ที่จะส่งผลกระทบต่อการผลิตในโรงไฟฟ้าจะนะ จังหวัดสงขลา กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ทำให้พื้นที่ภาคใต้ขาดแคลนไฟฟ้า ดังนั้น จะต้องหารือกับกระทรวงพลังงานเพื่อรับมือวิกฤติในครั้งนี้ต่อไป

 

ด้าน ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้ไฟฟ้าในปีนี้อาจเติบโตลดลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยส่วนตัวคาดว่าจะเติบโตเพียง 2% เมื่อเทียบกับปีก่อน ลดลงจากเดิมที่ 4% เนื่องจากเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบจากการเมือง โดยภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยวก็อาจได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่จะต้องรอตัวเลขปรับประมาณการจีพีดีชัดเจนก่อน เพราะหากมีความชัดเจน ทาง กฟผ. จะนำมาคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้าปีนี้ต่อไป

 

ทั้งนี้ กกพ.จะผลักดันให้มีโครงการรับมือวิกฤติไฟฟ้าแบบถาวร คือโครงการ Critical Peak Pricing (CPP) เกิดขึ้น โดยจะสนับสนุนมาตรการจ่ายเงินชดเชยให้กับเอกชนที่เข้าร่วมโครงการลดการใช้ไฟฟ้า ในอัตราหน่วยละ 10 บาท เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มทดสอบในช่วงที่แหล่งก๊าซบงกช ในอ่าวไทยจะหยุดซ่อมในเดือนเมษายน และเจดีเอในช่วงเดือนมิถุนายนนี้  ซึ่ง กกพ.ตั้งเป้าว่า CPP จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 2 พันเมกะวัตต์ หากดำเนินการได้ตามเป้าจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองไฟฟ้าและช่วยลดการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้า จากปริมาณก๊าซที่หายไปได้มาก