ENERGY

ปตท.สผ.ทุ่ม 2.2 พันล้านดอลลาร์ฯ ลุยพัฒนาแหล่งก๊าซโมซัมบิก
POSTED ON 17/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยกับถึงความคืบหน้าการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติของโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน เพื่อผลิตเป็นก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจี มูลค่าลงทุนราว 2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ว่า จะมีความชัดเจนด้านการพัฒนาภายในปีนี้ ล่าสุดผู้ร่วมทุนอยู่ระหว่างการจัดทำผลสรุปการตัดสินใจขั้นสุดท้ายหรือ Final Investment Decision (FID) เพื่อดำเนินงานพัฒนาแหล่งก๊าซนอกชายฝั่งแล้ว โดยเบื้องต้นต้องหาตลาดให้ได้มากพอ รวมทั้งต้องสรุปด้านการออกแบบ ต้นทุนการผลิตให้ชัดเจนก่อน

 

นอกจากนี้ ยังต้องเจรจากับทางภาครัฐในการพัฒนาและต้องตกลงกับแปลงสัมปทานข้างเคียงว่าจะพัฒนาร่วมกันหรือไม่ อย่างไร หากสามารถเอฟไอดีได้ภายในปลายปีนี้ จะร่วมมือวางแผนและพัฒนาการก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) บนบก และเริ่มผลิตแอลเอ็นจีได้ภายในปี 2562

 

ขณะที่การเจรจาขายแอลเอ็นจีให้กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้หารือกันบ้างแล้ว ว่าจะซื้อจากโครงการโมซัมบิก 2 ล้านตัน เนื่องจาก ปตท.ต้องแบ่งสัดส่วนสัญญาซื้อแอลเอ็นจีเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยปัจจุบันมีสัญญาซื้อจากกาตาร์ 2 ล้านตัน และส่วนหนึ่งมาตลาดจร ซึ่งในอนาคตก็จะมาจากโครงการโมซัมบิก 2 ล้านตัน และแอลเอ็นจีจากอเมริกาเหนือด้วย เพราะต้องหาแอลเอ็นจีจากหลายแหล่งเพื่อบริหารความเสี่ยง ซึ่งแอลเอ็นจีจากกาตาร์อิงราคาน้ำมันตลาดโลก ส่วนแอลเอ็นจีจากอเมริกาจะอิงราคาก๊าซในอเมริกาเป็นหลัก

 

"โครงการพัฒนาแอลเอ็นจีในโมซัมบิก เป็นแหล่งที่ใกล้ประเทศไทย และหากในอนาคตมีโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวาย ก็สามารถส่งป้อนได้ รวมถึงการขนส่งไปยังอินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีนได้หมด ส่วนแอลเอ็นจีจากตะวันออกกลางก็ใกล้ แต่ต้องผ่านช่องแคบฮอร์มุซ หากอิหร่านปิด หรือเกิดเหตุเรือล่ม ก็ไม่สามารถวิ่งผ่านได้ ดังนั้น ปตท. จึงต้องหาแอลเอ็นจีจากหลายๆ แหล่ง และยิ่งตอนนี้มีแอลเอ็นจีจากสหรัฐฯ ก็ต้องเจรจาด้วยเช่นกัน" นายเทวินทร์ กล่าว

 

นอกจากนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างเจรจากับผู้พัฒนาแปลงสัมปทานที่ติดกัน ซึ่งในอนาคตอาจมีโอกาสที่จะพัฒนาร่วมกัน แม้ว่าปัจจุบันจะแยกกันพัฒนา เพราะพื้นที่มีขนาดใหญ่มาก โดยผู้ถือหุ้นในโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน อาทิ บริษัท Anadarkoฯ  36.5% บริษัท Mitsuiฯ 20% และ ปตท.สผ. 8.5% ส่วนแปลงสัมปทานข้างๆ ก็เป็นเกาหลี และจีน ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าแอลเอ็นจีทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีโอกาสพัฒนาร่วมกันในอนาคตได้

 

สำหรับในปี 2557 ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณการขายน้ำมันดิบและก๊าซเฉลี่ย 3.37 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16% มาจากโครงการหลักๆ ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ โครงการบงกช, โครงการเอส1, โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย-บี 17, โครงการแคนาดา ออยล์ แซนด์ เคเคดี และโครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย (แหล่งมอนทารา) นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะแล้วเสร็จในอนาคตอันใกล้ ได้แก่ โครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บี โครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน โครงการ FLNG จากแหล่งแคชและเมเปิลของออสเตรเลีย

 

ดังนั้น งบลงทุนในช่วง 5 ปี (พ.ศ.2557-2561) ของ ปตท.สผ. ตั้งไว้ที่ 2.73 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในไทยและต่างประเทศแบ่งเป็นการลงทุนในไทย 49% เพื่อคงปริมาณการผลิตในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 21% อเมริกาเหนือ 16% และออสเตรเลีย ตะวันออกกลางและแอฟริกา 14% โดยรายจ่ายการลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมประมาณการเงินลงทุนที่ ปตท.สผ. อาจต้องใช้เพิ่มในการซื้อกิจการ

 

นอกจากนี้ ปตท.สผ.ยังสนใจเข้าไปร่วมทุนไม่ต่ำกว่า 20% ในแหล่งผลิตน้ำมันและก๊าซในชั้นหินดินดาน (เชลล์แก๊ส/เชลล์ออยล์) ที่สหรัฐฯ เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ คาดว่าภายใน 1-2 ปีนี้ จะมีโอกาสเข้าไปร่วมลงทุนดังกล่าว