ENERGY

กรมธุรกิจพลังงาน ลุยวางท่อขนส่งน้ำมันอีสานและเหนือ มอบจุฬาฯ ศึกษาโครงการ
POSTED ON 16/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสมนึก บำรุงสาลี อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า กรมธุรกิจพลังงานได้รับการจัดสรรงบประมาณให้ดำเนินการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อจัดสร้างท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่ต้องการให้มีท่อขนส่งน้ำมัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งน้ำมันของประเทศ สร้างเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และมีโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่เชื่อถือได้ ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ด้านเศรษฐศาสตร์ต่อประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

 

อีกทั้งยังเอื้อต่อนโยบายการกำหนดราคาค่าขนส่งน้ำมันไปยังคลังตามแนวท่อเท่ากันทั้งประเทศ (Levelized Tariff) ซึ่งนอกจากจะเป็นการ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในการใช้น้ำมัน และเอื้อต่อนโยบายการเก็บสำรองน้ำมันสำเร็จรูปในคลังส่วนภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการจัดหาพลังงานแล้ว ยังเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในการก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาค รวมทั้งรองรับการเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ด้วย

 

ปัจจุบันธุรกิจธุรกิจพลังงานได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดสร้างท่อขนส่งน้ำมัน และอยู่ระหว่างการอนุมัติการจ้าง โดยในการจ้างนั้นประกอบด้วย การสำรวจรายละเอียดเส้นทางแนวท่อ (Routing) ที่เหมาะสม การออกแบบระบบท่อน้ำมันและคลังน้ำมันเบื้องต้น (Basic Design) และการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อจัดสร้าง ท่อขนส่งน้ำมัน ซึ่งการดำเนินการในเนื้องานดังกล่าวทั้งหมด กำหนดแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน

 

นายสมนึก กล่าวว่า ในขั้นตอนต่อไปในปีงบประมาณ 2558 จะดำเนินการออกแบบระบบท่อขนส่งน้ำมันไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ออกแบบคลังน้ำมันที่เป็นศูนย์การจ่ายน้ำมันตามแนวท่อดังกล่าว และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างท่อขนส่งน้ำมันในปีงบประมาณ 2559 คาดว่าจะแล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2561

 

สำหรับประโยชน์ที่ประชาชน สังคม และประเทศชาติจะได้รับจากการวางท่อขนส่งน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือในระยะ 30 ปี จะเป็นการช่วยประหยัดต่อประเทศโดยรวมประมาณ 121,500 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วยประหยัด การใช้พลังงานในด้านการขนส่งน้ำมันได้ถึง 78,000 ล้านบาท

 

นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดค่าซ่อมแซมรถบรรทุกน้ำมันและอุปกรณ์ได้ 30,000 ล้านบาท ช่วยลดการสูญเสียน้ำมันในการขนส่งได้ 8,000 ล้านบาท ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุเกี่ยวกับการขนส่งน้ำมันและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นคิดเป็นเงินประมาณ 500 ล้านบาท รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อม โดยช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นเงินประมาณ 5,000 ล้านบาท (1.2 ล้านตันต่อปี)