ENERGY

กรมเชื้อเพลิงฯ ถกเอกชนรับสัมปทานปิโตเลียมอ่าวไทย ขอปรับเงื่อนไขเก็บค่าภาคหลวง 5-15%
POSTED ON 14/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายทรงภพ พลจันทร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมในพื้นที่อ่าวไทยที่กำลังจะหมดอายุสัมปทานในช่วงปี 2565 หรืออีก 8 ปีข้างหน้าว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้หารือกับบริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานแหล่งเอราวัณ, ปลาทอง และแหล่งสตูล และบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ผู้รับสัมปทานแหล่งบงกชแล้ว ซึ่งผู้รับสัมปทานเสนอว่า หากจะให้ผู้รับสัมปทานเดิมเป็นผูลิตแหล่งดังกล่าวต่อไป ควรจะใช้ระบบสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2514 หรือ Thailand I ที่ใช้อยู่เดิม คือให้ผู้รับสัมปทานต้องจ่ายค่าภาคหลวงร้อยละ 12.5 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่จำหน่าย และเก็บภาษีเงินได้ปิโตรเลียมที่ร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ

 

ในขณะที่กรมเชื้อเพลิงต้องการให้ใช้ระบบสัมปทานตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ.2532 หรือ Thailand III มากกว่า ที่กำหนดให้ผู้รับสัมปทานต้องเสียค่าภาคหลวงในอัตราแบบขั้นบันไดตามระดับการผลิตในอัตราร้อยละ 5-15 ของมูลค่าปิโตรเลียมที่ขาย และจ่ายผลประโยชน์พิเศษในอัตราแบบขั้นบันไดระหว่างร้อยละ 0-75 ของรายได้ปิโตรเลียมรายปีก่อนหักภาษี ในกรณีผู้รับสัมปทานมีกําไรสูงกว่าปกติ (Windfall Profit) เช่น กรณีที่พบแหล่งปิโตรเลียมขนาดใหญ่ หรือราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีราคาสูงมาก เป็นต้น ขณะที่ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมจะจัดเก็บในอัตราเท่ากับ Thailand I

 

"ถ้าผู้รับสัมปทานรายเดิมทำต่อเลยจะดีกว่า เพราะมีความรู้ในการขุดเจาะแหล่งนั้นๆ ดีอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเจรจาเพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับภาครัฐมากที่สุด ซึ่งตอนนี้มีเวลาอีก 2-3 เดือนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ จึงจะศึกษาเพื่อประมวลผลทางเลือกทั้งหมดในหลักการแล้วเสนอให้รัฐบาลใหม่ตัดสินใจ" นายทรงภพ กล่าว

 

นอกจากนี้ นายทรงภพยังกล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า คณะอนุกรรมการยังศึกษาทางเลือกในการบริการจัดการอื่นๆ เช่น ศึกษาว่าควรนำแหล่งสัมปทานดังกล่าวมาเปิดสัมปทานครั้งใหม่หรือให้ภาครัฐนำแหล่งปิโตรเลียมมาบริหารเอง รวมถึงข้อกฎหมายที่จะนำมาใช้รองรับ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะต้องบริหารให้ไม่มีผลต่อกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติของประเทศ แต่ขณะนี้คณะอนุกรรมการศึกษารูปแบบการบริหารจัดการสัมปทานปิโตรเลียมยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่นอน

 

ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเรื่องนี้ภายใน 3 ปี เพราะถ้าไม่ได้ข้อสรุปในขณะที่อายุของสัมปทานเหลือ 5 ปีสุดท้าย จะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่ลงทุนต่อเนื่องจากการบริหารจัดการได้ยาก รวมถึงปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งปิโตรเลียม เชฟรอนมีกำลังผลิต 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และแหล่งของ ปตท.สผ.มีกำลังผลิตประมาณ 1,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือรวมกันเป็นกำลังการผลิต 2,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดของประเทศไทยที่ 3,766 ล้านลูกบาศก์ฟุต ดังนั้น หากไม่มีการผลิตต่อเนื่องจะทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะส่งผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า