ENERGY

กรมเชื้อเพลิงฯ เตรียมเสนอ ครม.แก้กฎหมายน้ำมัน พร้อมเร่งจัดหาพลังงานทดแทนก๊าซฯ ในประเทศ
POSTED ON 10/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในขณะนี้น่าเป็นห่วงเรื่องปริมาณการจัดหาก๊าซธรรมชาติเพื่อผลิตไฟฟ้าของประเทศเพราะปี 2556 เป็นปีแรกที่ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วลดลงถึง 10% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์ แต่ความต้องการไฟฟ้ายังคงสูงขึ้น ดังนั้น แผนงานที่กระทรวงพลังงานจะต้องเร่งดำเนินการต้องทำหลายด้าน ทั้งการรักษาระดับการผลิตในประเทศ เพื่อยืดอายุปริมาณปิโตรเลียมให้นานที่สุด การเร่งนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีมาทดแทน โดยมอบหมายให้ ปตท.เร่งศึกษาการสร้างคลังแอลเอ็นจีแห่งใหม่โดยเร็ว การเจรจาเพิ่มการซื้อไฟฟ้าในต่างประเทศการเร่งกระจายเชื้อเพลิงจากก๊าซเป็นถ่านหิน การส่งเสริมพลังงานทดแทน และการส่งเสริมแผนอนุรักษ์พลังงาน

 

“ต้องเร่งจัดหาพลังงานทดแทนก๊าซฯ ในประเทศที่จะหมดลง แม้ว่าจะสามารถนำเข้าแอลเอ็นจีมาทดแทนได้ แต่ราคาก็แพง ขณะนี้ 19 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู แพงกว่าก๊าซเฉลี่ยของไทยถึง 2-3 เท่าตัว ซึ่งกระทบค่าไฟฟ้าในอนาคต” นายสุเทพ กล่าว

 

นายสุเทพ กล่าวว่า สิ่งที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเตรียมการเสนอ ครม.ชุดใหม่เข้ามาช่วยแก้ปัญหา คือเรื่องแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมที่จะต่ออายุสัมปทานอย่างไรแก่แหล่งที่ต่ออายุครบ 2 รอบแล้ว ในปี 2562-2563 เพราะหากไม่ทำอะไรเลยหรือทำล่าช้าจะเกิดปัญหาก๊าซขาด ในขณะเดียวกันเตรียมเสนอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ด้วย

 

รายงานสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ณ สิ้นปี 2556 พบว่า ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้ว ลดลงเหลือ 9.04 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต หรือลดลง 10% จาก 10.06 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ตามที่ประเมินในปี 2555 ปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติที่พิสูจน์แล้วนี้ สามารถใช้ได้อีกประมาณ 7 ปี (คิดจากปริมาณก๊าซธรรมชาติที่ผลิตจากแหล่งในประเทศขึ้นมาใช้ที่ 1.37 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตในปี 2556)

 

ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินกิจกรรมการสำรวจก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อพิสูจน์ทราบปริมาณสำรองก๊าซฯ ขึ้นมาชดเชยส่วนที่ผลิตใช้ในแต่ละปี ซึ่งจะช่วยยืดเวลาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ (ซึ่งมีราคาถูกกว่าการนำเข้า) ให้นานมากกว่า 7 ปี เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ส่วนอัตราการจัดหาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยจากแหล่งในประเทศของปี 2556 เพิ่มขึ้น 2.4% (จากเฉลี่ยวันละ 3,676 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในปี 2555 เพิ่มเป็นวันละ 3,766 ล้านลูกบาศก์ฟุต ในปี 2556) อัตราการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศของปี 2556 นี้ถือเป็นอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยที่สูงสุดของประเทศแล้ว เนื่องจากไม่มีการค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติใหม่ๆ ขนาดใหญ่ในช่วงปีที่ผ่านมา ประเทศจึงไม่มีแผนการพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติใดๆ ที่จะมาเพิ่มอัตราการผลิตได้อย่างมีนัยในขณะนี้