ENERGY

ราชบุรีโฮลดิ้ง เผย ลงทุนพม่าไม่คืบ ติดปัญหาผู้ถือหุ้นยังไม่ลงตัว
POSTED ON 08/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาร์ว่า จากที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มอบหมายให้บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก เป็นแกนนำเข้าไปศึกษาถึงความเป็นไปได้ของโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 2 พันเมกะวัตต์ ที่นิคมอุตสาหกรรมทวายประเทศเมียนมาร์นั้น ขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้าในการตัดสินใจเข้าลงทุน เนื่องจากเอ็กโกอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลเมียนมาร์ เพื่อให้ได้ข้อยุติการเข้าถือหุ้นของพันธมิตรร่วมทุน

 

สำหรับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ จะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนเท่าใดนั้น ในเร็วๆ นี้ อาจจะมีการหารือกันในกลุ่มของ กฟผ. ไม่ว่าจะเป็น บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ และเอ็กโก ว่าแต่ละบริษัทจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนที่เท่าใด หรือให้บริษัทใดเข้าไปเป็นผู้ลงทุน ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการหารือกันบ้างแล้วว่าบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 15% และเอ็กโกถือหุ้นประมาณ 35% ส่วนที่เหลือจะเป็นพันธมิตรร่วมทุนที่มาจากญี่ปุ่น เมียนมาร์ และบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ฯ ซึ่งการเข้าถือหุ้นและการลงทุนดังกล่าวน่าจะได้ความชัดเจนภายในปีนี้

 

"ที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทวายเกิดการสะดุด ไม่สามารถเดินหน้าต่อไป เนื่องจากความไม่ชัดเจนของโครงการนิคมอุตสาหกรรมทวายว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ หลังจากที่ญี่ปุ่นได้ถอนตัว ทำให้การเจรจาไม่เกิดขึ้น แต่เมื่อรัฐบาลเมียนมาร์มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของการพัฒนาพื้นที่นิคมฯทวายใหม่ ทำให้ญี่ปุ่นกลับเข้ามาสนใจอีกครั้ง จึงทำให้ต้องมีการเจรจาร่วมทุนกันใหม่อีกครั้ง ซึ่งหวังว่าในเร็ววันนี้จะได้ข้อยุติเกิดขึ้น" นายพงษ์ดิษฐ กล่าว

 

ส่วนการเข้าไปลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อนมายตงหรือท่าซาง กั้นแม่น้ำสาละวิน ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 7 พันเมกะวัตต์ ในเมียนมาร์นั้น อยู่ระหว่างการติดต่อกับทางบริษัท ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่นฯ ในฐานะผู้ได้รับสัมปทาน เพื่อเจรจาการเข้าเป็นพันธมิตรร่วมทุนให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้เช่นกัน ขณะที่ฝ่ายไทยเบื้องต้นจะมีบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เข้าไปถือหุ้นแน่นอน และอีก 1 บริษัท อยู่ระหว่างการตกลงกันระหว่าง กฟผ.หรือ กฟผ.อิเตอร์เนชั่นแนล ว่าใครจะเป็นผู้เข้าไปลงทุนและอีกส่วนก็จะถือหุ้นโดยรัฐบาลเมียนมาร์ ซึ่งมองว่าการเข้าไปลงทุนทั้ง 2 โครงการนี้ในปีนี้อาจจะเห็นเพียงการเจรจาการเข้าไปถือหุ้นเท่านั้น ส่วนจะลงทุนได้เมื่อใดนั้นจะต้องเห็นการหารือให้ได้ข้อยุติทั้งหมดก่อน

 

นายพงษ์ดิษฐ ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 โครงการนี้ ได้ถูกกำหนดอยู่ในแผนการลงทุนของบริษัทในช่วงระยะเวลา 10 ปี (พ.ศ.2557-2566) ที่จะเป็นส่วนหนึ่งช่วงผลักดันให้บริษัทมีการเติบโตด้านกำลังการผลิตตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ 1 หมื่นเมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ประมาณ 6 พันเมกะวัตต์ ซึ่งในแต่ละปีจะใช้เงินลงทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาทเพื่อขยายกำลังการผลิตให้เกิดขึ้น แต่หลังจาก 4-5 ปี ผ่านพ้นไปแล้วเม็ดเงินลงทุนในแต่ละปีจะขยับขึ้นไปเป็นปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจะมีโครงการพัฒนาใหม่ขึ้นมาอีกจำนวนมาก และเป็นช่วงที่บริษัทจะต้องใส่เม็ดเงินเข้าไปในโครงการต่างๆ ด้วย

 

ล่าสุด บริษัทฯ ได้รับใบอนุญาตพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 165 เมกะวัตต์ ในรัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 1.14 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลหาผู้รับเหมาก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ประมาณกลางปีนี้ และจะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ตั้งแต่กลางปี 2558 เป็นต้นไป

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่ออสเตรเลียอีก 250 เมกะวัตต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเออยู่ คาดว่าจะได้รับการอนุมัติและก่อสร้างได้ประมาณกลางปีนี้ และจะเริ่มทยอยจ่ายไฟฟ้าได้ภายในปี 2558 เป็นต้นไปเช่นกัน ซึ่งโครงการนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.7 หมื่นล้านบาท