ENERGY

กฟภ.เปิดระบบ Smart Micro Grid แห่งแรกของประเทศที่เชียงใหม่
POSTED ON 28/12/2560


Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics

 

 

เมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2560 ที่ผ่านมา นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือ PEA ได้เป็นประธานในพิธีเปิดระบบ Smart Micro Grid ณ โรงไฟฟ้าบ้านขุนแปะ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องระบบ Smart Micro Grid แห่งแรกของประเทศไทย โดยบ้านขุนแปะได้นำระบบ Smart Micro Grid มาใช้ในการควบคุมไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานน้ำและแสงอาทิตย์ รวมถึงระบบสำรองไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากภายนอก ทั้งนี้ ระบบดังกล่าวทำงานในโหมดแยกตัวอิสระ (Islanding) หรือโหมดเชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าหลัก (Grid Connected) ควบคุมการจ่ายไฟฟ้าระยะไกล จากศูนย์ควบคุมที่ จ.ลำพูน

 

ราวปี 2532 ทาง กฟภ.ได้เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กมากในพื้นที่บ้านขุนแปะ เพื่อจ่ายไฟฟ้าให้กับศูนย์พัฒนาโครงการหลวงขุนแปะและชุมชนใกล้เคียงจำนวน 10 หมู่บ้าน โดยเป็นการจ่ายไฟจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำอย่างเดียว ไม่มีการเชื่อมต่อกับระบบจำหน่ายหลักของ กฟภ. ซึ่งการจ่ายไฟฟ้าจะขึ้นกับปริมาณน้ำในแต่ละปี ประกอบกับระยะทางที่ไกล จึงทำให้เกิดปัญหาไฟตกไฟดับอยู่บ่อยครั้ง

 

ต่อมาในปี 2541 กฟภ. ได้มีการปรับปรุงระบบจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่บ้านขุนแปะด้วยการผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน โดยการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด 56 กิโลวัตต์  และระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 7.3 กิโลวัตต์ เพิ่มเติมจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาด 96 กิโลวัตต์ ทำให้มีกำลังผลิตรวม 159 กิโลวัตต์ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของระบบไฟฟ้าแบบ Micro Grid หรือระบบไฟฟ้าขนาดเล็กที่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าของตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบหลัก

 

ในปี 2553 กฟภ. ได้ก่อสร้างระบบจำหน่ายจ่ายไฟเข้าพื้นที่เพื่อเสริมความมั่งคงของระบบไฟฟ้า และถัดมาในปี 2560 ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พัฒนาระบบไฟฟ้าในพื้นที่บ้านขุนแปะให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น โดยเน้นการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน ด้วยการพัฒนากังหันพลังน้ำประสิทธิภาพสูง ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 100 กิโลวัตต์ และระบบควบคุมการจ่ายไฟ (Micro Grid Controller) พร้อมทั้งติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานขนาด 100 กิโลวัตต์ชั่วโมงเพิ่มเติมเข้าไป ทำให้พื้นที่บ้านขุนแปะมีระบบไฟฟ้าแบบ Smart Micro Grid อย่างสมบูรณ์ และได้กลายเป็น Smart Micro Grid แห่งแรกของประเทศไทย

 

Smart Micro Grid บ้านขุนแปะ ถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาระบบ Smart Micro Grid ในพื้นที่อื่น ๆ อีกทั้งยังเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีด้าน Smart Micro Grid และเป็นพื้นที่นำร่องในการวิจัยและพัฒนาระบบไฟฟ้าในด้านอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์กับชุมชน ซึ่งนอกจากจะมีไฟฟ้าใช้อย่างเพียงพอในพื้นที่แล้ว ยังเหลือจ่ายเข้าสู่ระบบได้อีกด้วย