ENERGY

ราคาพลังงานปี 2557 พุ่ง ลุ้นรัฐบาลใหม่เตรียมพร้อมวิกฤติ
POSTED ON 02/01/2557


พลังงานอุตสาหกรรม - นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รักษาการรัฐมนตรีพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานและ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างศึกษาการปรับขึ้นราคาพลังงาน ในปี 2557 เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ปี 2558 และเพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพกองทุนน้ำมันให้มีเงินสะสมที่เพียงพอ เพื่อรองรับวิกฤติราคาพลังงานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

 

กระทรวงพลังงานมีความตั้งใจว่า ในปีหน้าจะสามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลให้สูงเกิน 30 บาทต่อลิตร เพื่อให้เป็นไปตามกลไกราคาที่สะท้อนกับราคาน้ำมันตลาดโลก ที่ไม่ต้องใช้กองทุนน้ำมันเข้ามาอุดหนุนราคาเหมือนในขณะนี้ รวมถึงราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม ก็ถึงเวลาที่ต้องทยอยปรับขึ้นให้สะท้อนกับต้นทุนที่ ปตท.แบกรับไว้ ที่14-15 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อลดการขาดทุนสะสมของ ปตท. แต่ทั้ง 2 เรื่องนี้ จะสามารถทำได้หรือไม่ และทำได้ในช่วงเวลาใดในปีหน้า จะต้องขึ้นอยู่กับแผนงานรองรับ เพื่อเยียวยาผู้ใช้เอ็นจีวี ของปตท.ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จในปีนี้ ก่อนมาหาข้อสรุปร่วมกัน และยืนยันว่าจะไม่ให้กระทบค่าครองชีพของประชาชน ทั้งค่าขนส่งรถบรรทุก และค่าแท็กซี่ของประชาชน

 

ด้าน นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ รมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาโครงสร้างการปรับราคาพลังงานที่ยังไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อใช้เป็นฐานราคาพลังงานใหม่ในปี 2557 เนื่องจากปัจจุบันราคาพลังงานยังต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยอยู่จำนวนมาก โดยเฉพาะราคาก๊าซเอ็นจีวีและดีเซล ซึ่งปัจจุบันยังขายต่ำกว่าราคาตลาดโลกค่อนข้างมาก ดังนั้นจึงสั่งให้ ปตท. เร่งศึกษาแผนรองรับเพื่อไม่ให้กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน

 

โดยที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 เป็นต้นมา ในอัตรา 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม รวมแล้วปรับขึ้นไปแล้ว 2 บาทต่อกิโลกรัม และจะปรับขึ้นอีก 4 บาทต่อกิโลกรัม จนครบ 6 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนสิงหาคม 2557 รวมเป็นราคา 24.13 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันจะต้องทยอยปรับราคาแอลพีจีภาคขนส่งขึ้นตามไปด้วยในเดือนมีนาคม 2557 ในอัตราเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จนครบที่ 24.13 บาทต่อกิโลกรัม หรือปรับขึ้น 2.75 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้ หลังจากราคาแอลพีจีภาคครัวเรือนปรับขึ้นไปที่ 3 บาทต่อกิโลกรัม ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 จากปัจจุบันราคาแอลพีจีภาคขนส่งอยู่ที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม

 

ทั้งนี้ จะพิจารณาปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีควบคู่กันไปด้วย จากปัจจุบันขายอยู่ที่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัม เทียบกับต้นทุนจริงอยู่ที่ 14-15 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนจะปรับราคาเอ็นจีวีเมื่อไรนั้น ต้องดูความเหมาะสมอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าจะปรับขึ้นภายในปีหน้าอย่างแน่นอน ส่วนแนวทางการช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี เบื้องต้นอาจให้ ปตท.หารือกับกลุ่มรถแท็กซี่ที่ใช้เอ็นจีวี เพื่อส่งเสริมรายได้ให้กับกลุ่มแท็กซี่ อาทิ การซื้อพื้นที่โฆษณาบนรถแท็กซี่ การติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยระหว่างผู้โดยสารและคนขับ เพื่อแลกกับการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี เนื่องจากกระทรวงพลังงานจะพยายามลดเงินอุดหนุนให้น้อยที่สุด ขณะที่รถบรรทุก ก็จะส่งเสริมให้ใช้เอ็นจีวีเกรดพรีเมียม ที่ไม่ต้องเติมคาร์บอนไดออกไซด์ และส่งเสริมให้เอกชนทำสถานีบริการเอ็นจีวีเอง

 

ส่วนการปรับขึ้นราคาดีเซล จากปัจจุบันไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แนวทางการปรับโครงสร้างราคานั้น ขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐว่าจะปรับขึ้นอย่างไร เนื่องจากปัจจุบันความต้องการใช้ดีเซลนับว่าเป็นครึ่งหนึ่งของยอดใช้น้ำมันทั้งหมด ซึ่งการปรับขึ้นราคาจะกระทบวงกว้าง ดังนั้นจะต้องศึกษาอย่างรอบคอบ โดยขณะนี้กองทุนน้ำมันฯ อุดหนุนดีเซล 60 สตางค์ต่อลิตร คิดเป็นเงินประมาณ 30 ล้านบาทต่อวัน เพื่อรักษาระดับค่าการตลาดของผู้ค้าน้ำมันไม่ให้ต่ำเกินไป ปัจจุบันค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.26 บาทต่อลิตร

 

โดยตามแผนการปรับโครงสร้างราคาก๊าซเอ็นจีวีที่วางไว้ จะดำเนินการหลังจากที่ราคาก๊าซแอลพีจีภาคครัวเรือนปรับขึ้นไปแล้วครึ่งหนึ่งหรือ 3 บาทต่อกิโลกรัม จะมีการพิจารณาปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นตามไปด้วย เพื่อให้ราคาเอ็นจีวีสะท้อนตามต้นทุนที่แท้จริงและไม่ก่อให้เกิดความแตกต่างของราคาระหว่างกันเกิดขึ้นมากนัก หากเป็นไปตามแผนในช่วงเดือนมีนาคมก็จะมีการปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีขึ้นไป โดยจะทยอยปรับราคาเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จนครบตามต้นทุนที่แท้จริงในระดับ 14.50 บาทต่อกิโลกรัม ตามที่ได้มีการศึกษาไว้

 

ขณะที่การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้เอ็นจีวีนั้น จะเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มอย่างรถสาธารณะ เช่น รถโดยสาร รถตู้ร่วม ขสมก. และรถแท็กซี่ จะยังใช้ในราคาเดิมอยู่เพราะถูกกำหนดอัตราค่าโดยสารไว้ ส่วนรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุก จะต้องใช้เอ็นจีวีในราคาที่ปรับขึ้นไป ซึ่งหากปรับได้จะช่วยลดภาระการอุดหนุนของ ปตท.ได้ประมาณ 32 ล้านบาทต่อวัน หรือเกือบ 1 พันล้านบาทต่อเดือน

 

ส่วนการปรับราคาน้ำมันดีเซลนั้น จะมีการยกเลิกนำเงินจากกองทุนน้ำมันฯ มาชดเชย และจะทยอยเก็บภาษีสรรพสามิตเข้ามาด้วย จากที่ชะลอการเก็บไว้ 5 บาทต่อลิตร เพื่อลดการสูญเสียรายได้ของรัฐบาลที่หายไปเดือนละประมาณ 9 พันล้านบาท ส่วนจะปรับขึ้นไปในอัตราเท่าใดนั้น จะต้องมาพิจารณาไม่ให้มีผลกระทบต่อค่าขนส่งและฐานกองทุนน้ำมันฯ รวมถึงต้องเผื่อไว้สำหรับการทยอยปรับภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลด้วย ที่ลดลงไปกว่า 5 บาทต่อลิตรด้วย ซึ่งจะดำเนินการได้เมื่อใดนั้นคงต้องดูจังหวะที่เหมาะสมหรือช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงในปีหน้า

 

ด้าน นายชาครีย์ บูรณกานนท์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)(บมจ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตั้งคณะทำงาน เพื่อเข้ามาศึกษาแนวทางการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีที่ถูกตรึงไว้ต่ำกว่าราคาตลาดโลก พร้อมกับแผนรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อค่าครองชีพ ซึ่งการช่วยเหลือจะเน้นไปที่เฉพาะกลุ่ม เช่น รถโดยสารสาธารณะ โดยเตรียมจะเสนอแผนดังกล่าวต่อกระทรวงพลังงานภายในเดือนธันวาคม 2556 แล้ว

 

สำหรับยอดใช้แอลพีจี ปัจจุบันอยู่ที่ 8.6 พันตันต่อวัน เพิ่มขึ้น 9% หรือ 700 ตันต่อวัน เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีจำนวนรถเอ็นจีวีสะสมทั้งสิ้น 4.43 แสนคัน แบ่งเป็นยอดใช้เอ็นจีวีในกลุ่มรถใหญ่ (รถบรรทุก รถโดยสาร) อยู่ที่ 55%, รถเล็ก (รถเก๋ง กระบะ และรถตู้ทั่วไป) อยู่ที่ 30% และรถแท็กซี่ รถตู้ร่วม ขสมก.อยู่ที่ 15% ของยอดใช้เอ็นจีวีทั้งหมด

 

ขณะที่ นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานองค์กรธุรกิจเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (TBCSD) เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันปีหน้ายังคงผันผวนตามความต้องการของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในระดับเหนือ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันสำเร็จรูปทั้งเบนซินและดีเซลอยู่ที่ 120-130 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สำหรับแนวโน้มราคาก๊าซหุงต้มคาดว่าควรปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนแท้จริง เนื่องจากต้องมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งนโยบายรัฐบาลมีทิศทางจะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า แต่ต้องเข้ามาดูแลกลุ่มที่มีรายได้น้อยไม่ให้ส่งผลกระทบมากขึ้น และต้องแบกรับภาระมากกว่าในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคขนส่ง

 

สำหรับทิศทางอุตสาหกรรมปิโตรเคมีนั้นคาดว่าในอีก 2-3 ปีข้างหน้ายังคงผันผวนมาก เนื่องจากในตลาดอเมริกามีโอกาสแข่งขันค่อนข้างรุนแรง และมีโรงงานใหม่เกิดขึ้น พร้อมสามารถป้อนตลาดได้ใกล้กว่า ดังนั้น กลุ่มปิโตรเคมีในประเทศไทยต้องปรับตัวและสามารถดำเนินธุรกิจให้เดินหน้าต่อไป ประกอบกับปิโตรเคมีเป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานที่สามารถป้อนให้หลายอุตสาหกรรม เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร ยา สิ่งทอ เป็นต้น แต่ละปีสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศประมาณ 700,000 ล้านบาทต่อปี

 

นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวถึงทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกในปี 2556ว่า ราคาอาจลดลงบ้าง และไม่ผันผวนเท่าปีนี้ เนื่องจากความต้องการให้น้ำมันเพิ่มขึ้นไม่มาก เพราะเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น โดยสหรัฐอเมริกายังเผชิญกับปัญหาหน้าผาการคลัง ส่วนยุโรปยังต้องแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะ ขณะที่กำลังการผลิตน้ำมันของโลกยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งนับว่ายังเป็นปัจจัยกดดันราคาน้ำมันให้แกว่งตัวในระดับใกล้เคียงกับปัจจุบัน

 

ประเมินว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จะอยู่ในกรอบ 100-105 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เวสเท็กซัสอยู่ในกรอบ 80-90 เหรียญต่อบาร์เรล และเบรนท์อยู่ในกรอบ 100-110 เหรียญต่อบาร์เรล

 

ส่วนทิศทางราคาพลังงานในประเทศปีนี้ ขึ้นอยู่กับการปรับโครงสร้างราคาพลังงานของรัฐบาล ว่าจะดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้หรือไม่ โดยหากเป็นไปตามแผน ราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) คงจะมีการปรับขึ้นราคาประมาณ 4-5 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำมันดีเซล คงจะตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร ตามเดิม และคงไม่เห็นการปรับลดราคาลง เพราะรัฐบาล อาจต้องใช้ช่วงที่ราคาตลาดโลกขาลง ทยอยกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลจากการที่ยกเว้นการเก็บมาเป็นเวลานาน และทำให้รัฐต้องสูญเสียรายได้จำนวนมาก

 

ทางด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงที่พลังงานมองปีหน้า เป็นเรื่องปัญหาการเมืองในอิหร่าน กับปัญหาในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งพลังงาน หากมีปัญหาขึ้นมาจะกระทบต่อราคาพลังงานให้ปรับสูงขึ้น ส่วนปัจจัยอื่นที่กดดันราคาพลังงานยังมีไม่เยอะ

 

นอกจากนี้ พลังงานจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง จากที่ผ่านมาเคยมีการเปลี่ยนจากพึ่งพาพลังงานถ่านหินเปลี่ยนมาเป็นน้ำมัน ช่วงเปลี่ยนผ่านต่อไปนี้จะเปลี่ยนจากน้ำมันไปเป็นก๊าซเหลว ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันปีหน้าจะอยู่ที่ไม่เกิน 110 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

 

อย่างไรก็ตาม เรื่องการปรับราคาพลังงานที่ต้องรอนโยบายจาก ครม. เช่น เรื่องการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวี กรอบราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร รวมทั้งการปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ โครงสร้างค่าไฟฟ้าใหม่ และแผนพัฒนาไฟฟ้าระยะยาว (พีดีพี) จะต้องรอการตัดสินใจจากรัฐบาลชุดใหม่ ดังนั้น ภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2557 อาจไม่สามารถปรับราคาในส่วนนี้ได้ จากที่นโยบายต้องการทยอยขยับราคา เพื่อสะท้อนต้นทุน และเตรียมพร้อมรับเออีซี ที่จะเปิดเสรีในปลายปี 2558

 

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการทยอยปรับขึ้นราคาแอลพีจีเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม จนขยับขึ้นเป็น 24.82 บาทต่อกิโลกรัม จากขณะนี้อยู่ที่ 20.30 บาทต่อกิโลกรัม จะเดินหน้าปรับขึ้นต่อไป