ENERGY

ECN ชี้ มอเตอร์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพช่วยลดค่าไฟได้เกือบ 10%
POSTED ON 11/11/2559


พลังงานอุตสาหกรรม 11 พ.ย.2559 - กว่า 45% ของไฟฟ้าทั่วโลกถูกนำไปใช้ในมอเตอร์ไฟฟ้า เครื่องปั๊ม เครื่องระบายอากาศ และคอมเพรสเซอร์ ทว่ามอเตอร์และระบบเหล่านี้มักล้าสมัยและกินไฟมาก ดังนั้น การปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพของมอเตอร์และระบบดังกล่าวจะช่วยให้ทั่วโลกสามารถประหยัดไฟได้มากกว่า 1,350 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh)

 

ศูนย์วิจัยพลังงานแห่งเนเธอร์แลนด์ (ECN) ประเมินว่า หากทำได้เช่นนั้นจริง การก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ 200 แห่งทั่วโลกก็จะไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป โดย นายเจฟฟรี ซิปมา นักวิจัยประจำ ECN กล่าวว่า “เรารู้สึกแปลกใจมากที่มอเตอร์ไฟฟ้ากินไฟมากขนาดนี้ มอเตอร์ไฟฟ้าและระบบที่ขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้ากินไฟมากกว่าอุปกรณ์ส่องสว่างถึง 2.5 เท่า เราสามารถประหยัดพลังงานได้อย่างง่ายดายและมีประสิทธิภาพ เพียงแค่ปรับปรุงมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบเหล่านี้” 

 

นักวิจัยประจำ ECN กล่าวเสริมว่า “เราสามารถประหยัดพลังงานมหาศาลได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เริ่มจากการเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟลง 10% สำหรับมอเตอร์ขนาดเล็ก และ 5% สำหรับมอเตอร์ขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันยังมีนโยบายที่จะช่วยให้ภาครัฐบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ นั่นคือ Minimum Energy Performance Standard (MEPS) หรือมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำ

 

“นอกจากนี้ เรายังสามารถประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นได้อีก ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ (Variable Speed Drive) ในเครื่องปั๊ม เครื่องระบายอากาศ และคอมเพรสเซอร์ รวมถึงการซ่อมแซมรอยรั่ว การใช้ระบบจัดการมอเตอร์ การเปลี่ยนเครื่องปั๊มหรือเครื่องระบายอากาศ ตลอดจนการปรับปรุงทางเทคนิคและอื่น ๆ ทั้งนี้ การประหยัดพลังงานจะได้มากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่แตกต่างกันไป แต่เราสามารถประมาณการณ์ได้ค่อนข้างแม่นยำด้วยการสำรวจการใช้พลังงาน (Energy Audit) ซึ่งมีการประมาณการณ์ว่าภาคอุตสาหกรรมจะสามารถลดการใช้พลังงานได้เฉลี่ย 20% ส่วนภาคบริการจะลดการใช้พลังงานได้เฉลี่ย 15% และการบรรลุเป้าหมายในการประหยัดพลังงานให้มากขึ้นต้องอาศัยนโยบายอื่น ๆ นอกเหนือไปจาก MEPS” นายซิปมา กล่าว

 

ECN เชื่อว่าการปรับปรุงมอเตอร์ไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจะช่วยให้นานาประเทศมีโอกาสบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนหลายข้อตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ ขณะที่โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ระบุว่า ประเทศที่จะได้รับประโยชน์มากที่สุดคือประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ และได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจขึ้นเพื่อศึกษาในเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดย ECN ก็เป็นสมาชิกรายหนึ่งในคณะทำงานนี้ด้วย

 

ECN ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลทั่วโลกในการออกแบบและบังคับใช้แผนแม่บทเพื่อปรับปรุงมอเตอร์ไฟฟ้าและระบบที่ใช้กำลังไฟฟ้าขับเคลื่อนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตัวอย่างเช่น การยื่นมือเข้าช่วยเหลือรัฐบาลอินโดนีเซียในการพัฒนาแผนงานเพื่อปรับปรุงมอเตอร์และระบบต่างๆในอุตสาหกรรมให้มีประสิทธิภาพ

 

นายซิปมา กล่าวว่า “เราเริ่มจากแผนแม่บท ต่อด้วยการจำแนกอุตสาหกรรมหลักที่ใช้พลังงานสูงสุด และสร้างรายชื่อที่เรียงลำดับตามความสำคัญ จากนั้นเราจะพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อกำหนดเป้าหมาย นอกจากนั้น เรายังวิเคราะห์ระบบที่เกี่ยวข้องพร้อมกับปลูกจิตสำนึกให้แก่ภาคธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน รวมทั้งให้คำแนะนำแก่รัฐบาลในการคำนวณ กระตุ้น และอัดฉีดงบประมาณสู่ทั้งระบบด้วย”

 

ตัวอย่างของความสำเร็จที่ขอหยิบยกขึ้นมานำเสนอ ประกอบด้วย การที่บริษัทเวชภัณฑ์แห่งหนึ่งสามารถลดการใช้ไฟฟ้าของระบบหล่อเย็นด้วยน้ำได้ถึง 49% ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายมากถึง 80,000 ดอลลาร์ต่อปี ในขณะเดียวกัน บริษัทปิโตรเคมีแห่งหนึ่งที่ติดตั้งอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ 34 ตัว ก็สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 28% และคืนทุนภายใน 5 เดือน นอกจากนี้ ยังมีโรงงานทอผ้าที่สามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ถึง 59% ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ 15 ตัวในระบบระบายอากาศ และคืนทุนได้ภายใน 1 ปีเท่านั้น

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics