ENERGY

แห่ส่งออกน้ำมันดิบปนเปื้อน หลังโรงกลั่นในประเทศกดราคาสุดโหด
POSTED ON 10/10/2559


พลังงานอุตสาหกรรม 10 ต.ค.2559 - ประชาชาติธุรกิจ รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายหลังจากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงมาอยู่ที่เฉลี่ย 40-45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จนบางรายสู้ต้นทุนไม่ไหว ต้องยื่นขอหยุดผลิตในบางแหล่ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้รับสัมปทานรายเล็กที่มีต้นทุนสูง นอกจากจะประสบปัญหาขาดทุนแล้ว ในบางแหล่งยังได้น้ำมันดิบที่มีปริมาณสารปนเปื้อนในน้ำมันที่ค่อนข้างสูง โรงกลั่นน้ำมันในประเทศไม่รับซื้อเพราะการกลั่นน้ำมันดิบประเภทดังกล่าวต้องใช้ต้นทุนสูง บางโรงที่รับซื้อก็กดราคา กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงแก้ไขด้วยการอนุมัติให้ส่งออกน้ำมันได้ โดยเริ่มดำเนินมาตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค. 58 ที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่มีนโยบายให้ผู้ผลิตน้ำมันในประเทศสามารถส่งออกน้ำมันที่มีสารปนเปื้อนในปริมาณสูง (สารหนู-ปรอท) ตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2558 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ยื่นขอส่งออกดังนี้

 

1.แหล่งนงเยาว์ (พื้นที่อ่าวไทย) กำลังผลิต 10,000 บาร์เรล/วัน ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม จำกัด 2.แหล่งวาสนา (พื้นที่อ่าวไทย) กำลังผลิต 6,000 บาร์เรล/วัน ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท คริส เอ็นเนอร์ยี่ ลิมิเต็ด 3.แหล่งสงขลา (พื้นที่อ่าวไทย) กำลังผลิต 10,000 บาร์เรล/วัน ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด

 

รวมการส่งออกในช่วง 10 เดือน (ธ.ค.2558 ถึง ส.ค.2559) รวม 20 ครั้ง มีปริมาณรวมกว่า 7 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้ภาครัฐมีรายได้จากค่าภาคหลวงเกือบ 500 ล้านบาท

 

การเปิดให้มีการส่งออกนั้น เนื่องจากน้ำมันดิบที่มีสารปนเปื้อนในระดับสูงไม่สามารถส่งเข้าโรงกลั่นน้ำมันในประเทศได้ทั้งหมด เพราะเทคโนโลยีโรงกลั่นถูกออกแบบให้รับน้ำมันจากแหล่งตะวันออกกลางเป็นหลัก ที่สำคัญมีต้นทุนการผลิตถูกกว่าเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบที่มีสารปนเปื้อน ในบางโรงกลั่นที่สามารถรับน้ำมันดิบดังกล่าวได้ ก็จะกดราคารับซื้ออยู่ที่ราคา 28-29 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับต้นทุนการผลิต ดังนั้น การส่งออกน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ผลิตและภาครัฐมากกว่า

 

สำหรับขั้นตอนการส่งออก ผู้ผลิตแต่ละรายจะต้องมีการสอบถามราคารับซื้อจากโรงกลั่นในประเทศ แล้วนำมาเปรียบเทียบกับราคาส่งออก ในกรณีที่ราคาส่งออกสูงกว่าในประเทศจึงจะมีการอนุมัติให้ส่งออกได้ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญคือ ประเทศสิงคโปร์, เกาหลีใต้, มาเลเซีย และจีน โดยเฉพาะการส่งออกไปจีนในล็อตที่ผ่านมาได้ราคารับซื้ออยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล

 

นายวีรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากแหล่งดังกล่าวข้างต้นที่มีการส่งออกแล้ว ล่าสุดแหล่งบัวหลวง กำลังผลิต 9,000 บาร์เรล/วัน ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ ได้ยื่นขอส่งออกเช่นกัน ซึ่งขณะนี้กรมเชื้อเพลิงฯอยู่ในระหว่างพิจารณา และยังมีอีก 2 แหล่งที่อยู่ในระหว่างติดตามคุณภาพน้ำมัน ภายหลังจากที่มีการผลิตมานานแล้วเริ่มพบว่ามีปริมาณสารปนเปื้อนมากขึ้น คือ (1) แหล่งปลาทอง กำลังผลิต 20,224 บาร์เรล/วัน ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท เชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด และ (2) แหล่งเบญจมาศ กำลังผลิต 31,030 บาร์เรล/วัน ผู้รับสัมปทานคือ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจะใช้เวลาติดตามประมาณ 3 เดือน หากพบว่ามีสารปนเปื้อนในระดับสูงอาจจะพิจารณาให้มีการส่งออกได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ สำหรับบางแหล่งสัมปทานที่มีการหยุดผลิตก่อนหน้านี้ในหลายแหล่ง เนื่องจากไม่คุ้มค่าการผลิต เช่น แหล่งสงขลานั้นที่หยุดผลิตไปรวม 3 แท่น แต่ยังมีการผลิตอยู่ 2 แท่น หากสถานการณ์ราคาน้ำมันกลับมาปรับขึ้นอีกครั้งในระดับที่คุ้มค่าลงทุนแล้ว เชื่อมั่นว่าแต่ละแหล่งจะกลับมาผลิตแน่นอน

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics