ENERGY

EGATi กรุยทางลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้าน
POSTED ON 31/03/2559


พลังงานอุตสาหกรรม 31 มี.ค.2559 - นายอดิศักดิ์ สุริยวนากุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนา บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) เปิดเผยว่า EGATi ได้ดำเนินธุรกิจด้านการลงทุนกับหลายโครงการในต่างประเทศ เพื่อจัดหาพลังงานไฟฟ้าส่งกลับเข้าประเทศไทย เพิ่มความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าในประเทศ รวมถึงขยายโอกาสการลงทุนทางธุรกิจทางด้านพลังงานไฟฟ้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยโครงการที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนกวางจิ จ.กวางจิ ประเทศเวียดนาม ซึ่งพื้นที่ของโครงการอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความมั่นคงด้านพลังงานของเวียดนาม และยังเป็นจุดเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลเวียดนามให้การสนับสนุน

 

โดยโครงการดังกล่าว EGATi ถือหุ้นร้อยละ 40 มีขนาดกำลังผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ใช้ถ่านหินนำเข้าเป็นเชื้อเพลิง กำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2565-2566 ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีกำลังผลิตเกินกว่า 500 เมกะวัตต์ จะต้องใช้เทคโนโลยี Ultra-Supercritical Technology เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development - OECD) และมาตรฐานสากลของสถาบันการเงินเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสังคมในการปล่อยเงินกู้กำหนดไว้

 

นอกจากนี้ EGATi ยังได้ลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบ 1 ในแขวงบอลิคำไซ ของ สปป.ลาว ขนาดกำลังผลิต 289 เมกะวัตต์ โดย EGATi ถือหุ้นร้อยละ 30 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างตัวเขื่อนหลัก และเขื่อนรอง คาดว่าจะจ่ายไฟเข้าระบบได้ในปี 2562

 

สำหรับการลงทุนในเมียนมาร์ มี 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสาละวินตอนบน (มายตง) ตั้งอยู่ที่เมืองมายตง รัฐฉาน ขนาดกำลังผลิต 7,000 เมกะวัตต์ EGATi ถือหุ้นร้อยละ 30 มีกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2570-2571 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมโครงการ (2) โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำฮัจยี ตั้งอยู่ในจังหวัดผาอัน รัฐคะหยิ่น บริเวณตอนใต้ของแม่น้ำสาละวิน ขนาดกำลังผลิตรวม 1,360 เมกะวัตต์ ซึ่งผู้ร่วมพัฒนาโครงการได้ชะลอการศึกษาโครงการออกไป เพื่อรอความชัดเจนจากรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมาร์ และ (3) โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนมะริด ตั้งอยู่ที่เมืองมะริด ในเขตตะนาวศรี ใช้เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้า ขนาดกำลังผลิต 1,800-2,500 เมกะวัตต์ มีแผนจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2564-2565 โดยโครงการได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมโครงการเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอพิจารณาอนุมัติรายงานความเหมาะสมจากรัฐบาลเมียนมาร์แล้วจะดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

 

นายอดิศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า EGATi ยังมีการดำเนินธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเป็นการใช้ศักยภาพทีมีอยู่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ได้แก่ ธุรกิจโครงข่ายโทรคมนาคม ในการเชื่อมโยงระบบกับ สปป.ลาว และสหภาพเมียนมาร์ รวมถึงช่องทางการลงทุนธุรกิจเหมืองถ่านหินในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้กับ EGATi แล้ว ยังเป็นการสร้างความมั่นคงด้านเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. อีกด้วย

 

ด้าน นายอุปกิต ปาจรียางกูร กรรมการบริษัท ยูไนเต็ด เพาเวอร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ UPA เปิดเผยว่า ยูพีเอได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ขนาด 200 เมกะวัตต์ กับกระทรวงพลังงาน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ โดยมี ฯพณฯ HE U Khin Mg Soe รมว.พลังงาน ของเมียนมาร์เป็นประธานในพิธีลงนามดังกล่าว

 

โครงการนี้เป็นโรงไฟฟ้าพลังก๊าซธรรมชาติโคเจเนอเรชั่น (Cogeneration) ตั้งอยู่ที่เมืองกันบก จังหวัดทวาย รัฐทะนินทายี โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเมียนมาร์ให้ก๊าซธรรมชาติที่จะนำมาผลิตไฟฟ้าทั้งหมด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และบริษัทฯได้รับค่าตอบแทนจากการขายไฟฟ้าหน่วยละ 1.18 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาสูงที่สุดเท่าที่รัฐบาลเมียนมาร์เคยให้ โดยมีระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี มูลค่าการลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท กำหนดจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ได้ภายในปี 2563 ตามแผนงาน

 

โครงการนี้ยังเป็นโรงไฟฟ้าแห่งแรกของเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย (Dawei SpecialEconomic Zone : DSEZ) ซึ่งทวายเป็นประตูสู่ยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย ของอาเซียน คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มมากขึ้นตามการลงทุนที่เพิ่มขึ้นทางรัฐบาลเมียนมาร์ จึงได้เตรียมแผนงานเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าเป็น 500 เมกะวัตต์

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics