ENERGY

กฟภ.ไล่บี้ยึดใบอนุญาตขายไฟฟ้า RE จากโครงการที่ไม่คืบ
POSTED ON 14/01/2559


พลังงานอุตสาหกรรม 14 ม.ค.2559 - นายเลิศชาย แก้ววิเชียร ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (SCOD) แล้ว แต่ยังไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนดนั้น ได้มีการแบ่งผู้ประกอบการในโครงการดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่...

 

กลุ่มที่ 1 มีจำนวน 20 ราย ที่ได้ทำการยกเลิกสัญญาไปแล้ว กำลังการผลิตรวม 50.69 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวลและพลังงานแสงอาทิตย์

 

กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 11 ราย กำลังการผลิตรวม 16.14 เมกะวัตต์ ซึ่งถูกเรียกค่าปรับครบ 12 เดือนแล้ว ซึ่งทาง กฟภ.มีหนังสือส่งไปยังผู้ประกอบการให้เร่งจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับหนังสือ โดยได้ส่งหนังสือไปตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค.2558 ที่ผ่านมา สาเหตุที่ล่าช้าส่วนใหญ่มาจากการรอใบอนุญาตต่างๆ หากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ก็ต้องมีการพิจารณาความคืบหน้าเป็นรายโครงการต่อไป

 

กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 6 ราย กำลังการผลิตรวม 9.82 เมกะวัตต์ โดยกลุ่มนี้ถูกปรับครบ 12 เดือนแล้วเช่นกัน แต่การลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าในจำนวนนี้มี 3 ราย ที่มีกำลังการผลิตรวม 1.5 เมกะวัตต์ ยังไม่มีการก่อสร้างโครงการ ดังนั้น อาจพิจารณาเพื่อยกเลิกสัญญาดังกล่าว ส่วนอีก 3 ราย ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งทาง กฟภ.ได้ส่งหนังสือเพื่อเร่งให้ผู้ประกอบการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่รับหนังสือเช่นกัน

 

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่เกิน SCOD แต่ยังถูกเรียกปรับไม่ครบ 12 เดือน กฟภ.ได้แบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่ม เช่นกัน ได้แก่  

 

กลุ่มที่ 1 มีจำนวน 8 ราย กำลังการผลิตรวม 20.98 เมกะวัตต์ เดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้วเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา  

กลุ่มที่ 2 มีจำนวน 2 ราย กำลังการผลิตรวม 4.4 เมกะวัตต์ ก่อสร้างโครงการเสร็จแล้ว แต่ยังไม่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเพราะยังรอใบอนุญาต  

กลุ่มที่ 3 มีจำนวน 12 ราย กำลังการผลิตรวม 37.8 เมกะวัตต์ ที่ยังอยู่ระหว่างก่อสร้างโครงการ หากไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดก็จะทยอยหักเงินค้ำประกัน  

กลุ่มที่ 4 มีจำนวน 6 ราย กำลังการผลิตรวม 26.7 เมกะวัตต์ ยังไม่มีความคืบหน้าโครงการ โดยในกลุ่มนี้ทางพีอีเอคงต้องเข้าไปดูข้อเท็จจริง หากไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมก็คงต้องยกเลิกสัญญาต่อไป

 

โดยโครงการที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในขณะนี้มีอยู่ 9 ราย กำลังการผลิตรวม 28.2 เมกะวัตต์ ซึ่งไม่มีความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการ และมีความเป็นไปได้ว่าจะไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามกำหนด โดยทาง กฟภ.อาจจะต้องยึดใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้าคืน

 

ทั้งนี้ ทางทีมงานของ กฟภ.จะลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนอีกครั้ง จากนั้นจะเสนอคณะกรรมการฯพิจารณาเพื่อยกเลิกสัญญาในบางโครงการเพิ่มเติม ภายในเดือน ม.ค.2559 และจะส่งผลสรุปดังกล่าวไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในลำดับต่อไป

 

นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (พีอีเอ) เปิดเผยว่า "ขณะนี้ทาง กฟภ.อยู่ระหว่างการตรวจสอบความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสัญญาขายไฟฟ้ากับทาง กฟภ.เพิ่มเติม หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีหนังสือยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการไปแล้วบางส่วน หากโครงการใดที่มีความคืบหน้าบ้างแล้วก็ต้องพิจารณาเป็นรายโครงการว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามกำหนดได้หรือไม่ หากไม่มีความคืบหน้าคงต้องยกเลิกสัญญาเช่นกัน"

 

สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขยะต้นแบบ 5 เมกะวัตต์ อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา มูลค่า 990 ล้านบาท ซึ่งลงทุนผ่านบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของ กฟภ.นั้น หลังจากได้รับความเห็นชอบจาก ครม.แล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเปิดประมูลผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการซึ่งน่าจะใช้ระยะเวลาประมาณปีครึ่ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2560

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics