ENERGY

สภาอุตฯ ร้อง สนช. พิจารณายกเว้นพลังงานขยะไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุน
POSTED ON 13/11/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นสพ.ประชาชาจิธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 12 พ.ย.2558 ที่ผ่านมา ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ส.อ.ท.ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามด้านพลังงานทดแทน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอหารือเรื่องการขอให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ยกเว้นการผลิตพลังงานจากขยะ ไม่เข้าข่ายพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556

 

โดย นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุว่า กฎหมายได้กำหนดให้ขยะเป็นทรัพย์สินของรัฐที่จะต้องดำเนินการขออนุมัติจากกระทรวงมหาดไทยเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน จากปกติการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะมีขั้นตอนการขออนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กับกระทรวงอุตสาหกรรม ด้วยการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) อนุมัติออกใบอนุญาตตั้งโรงงาน (รง.4) อยู่แล้ว ดังนั้น ถ้าผู้ประกอบการจะต้องขออนุญาตการใช้ขยะอีกก็จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ส่งผลให้โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากขยะ 23 โครงการ กำลังผลิตรวม 140 เมกะวัตต์ มูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท ยังไม่ได้รับการอนุมัติให้ก่อสร้างสักโรงเดียว

 

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท.มีความเห็นว่า "ขยะไม่ควรเป็นทรัพย์สินของภาครัฐ แต่เป็นของเสียที่รัฐมีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการและกำจัดอย่างถูกวิธี ดังนั้น ทางกลุ่มฯจึงขอหารือกับ สคร. เพื่อขอยกเว้นไม่ให้ขยะเข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ รวมถึงให้มีการทบทวนแนวความคิดของคณะอนุกรรมาธิการและติดตามด้านพลังงานก่อนหน้านี้ที่ต้องการตั้งองค์การขยะแห่งชาติ เพื่อบริหารจัดการขยะทั้งระบบ ด้วยการให้อำนาจองค์การขยะแห่งชาติสามารถพิจารณาการอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้า พลังงานทดแทนได้แบบ One Stop Service โดยที่ไม่ต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่ต้องใช้เวลานาน หรืออาจจะออกเป็นคำสั่ง จาก ครม.ก็ได้

 

"การใช้มาตรา 44 ปลดล็อกเรื่องผังเมืองให้พื้นที่สีเขียวสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ แต่พลังงานทดแทนอื่นๆ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าขยะกลับไม่ได้ประโยชน์จากที่ภาครัฐแก้ไขในประเด็นนี้ แถมยังมาติดข้อจำกัดในเรื่องของ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะการอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีขั้นตอนเยอะมาก เริ่มจากการประสานงานตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงหน่วยงานส่วนกลาง บางโครงการใช้เวลาเป็นปี แต่บางรายใช้เวลาขอทำโครงการโรงไฟฟ้ามาแล้ว 3 ปีแล้วยังไม่ได้รับการอนุมัติก็มี" นายพิชัย กล่าว

 

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ไม่ได้มีหน้าที่พิจารณาอนุมัติใบอนุญาตหรือโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน แต่ สคร.ต้องให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการเหล่านี้ ขณะที่ผู้ที่จะพิจารณาให้ใบอนุญาต/อนุมัติโครงการก็คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นหน่วยงานหลัก ส่วนขั้นตอนการขออนุมัติตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐนั้น ระบุว่า โครงการที่ลงทุนตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จะต้อง (1) หน่วยงานรัฐที่เป็นเจ้าของโครงการเสนอโครงการต่อรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบ (2) ทำเรื่องส่งมายัง สคร.เพื่อให้ความเห็นชอบ (ตามมาตรา 26) (3) ยื่นเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) - สำนักงบประมาณ (ในกรณีที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อให้ความเห็น และ (4) เรื่องทั้งหมดจะส่งกลับอีกครั้งเพื่อให้ สคร.ให้ความเห็นชอบ (ตามมาตรา 27)

 

โดยในแต่ละขั้นตอนยังมีรายละเอียดปลีกย่อยเพิ่มเติมอีกหลายประการ เช่น การเสนอโครงการต้องมีการรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการในกรณีที่ลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท ต้องจ้างที่ปรึกษา สำหรับวิธีการคัดเลือกโครงการจะใช้วิธีประมูล แต่หากจะไม่ใช้วิธีประมูลจะต้องขอความเห็นชอบจาก สคร.และ รมว.มหาดไทย แล้วแต่กรณี สำหรับร่างสัญญาร่วมลงทุนต้องให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจพิจารณา และต้องรายงานผลการคัดเลือกพร้อมกับร่างสัญญาให้ ครม.พิจารณา หากไม่เห็นชอบโครงการจะต้องส่งคืนให้ทบทวนโครงการ

 

"ปัจจุบันการขออนุมัติใบ รง.4 กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้รับการแก้ไขจนถือว่าคล่องตัวมากขึ้นในโครงการลงทุนด้านพลังงานทดแทน แต่ในเรื่องขยะที่ภาครัฐต้องการให้เป็นเรื่องวาระแห่งชาติกลับมีขั้นตอนมากขึ้น ดังนั้น จึงเห็นว่าภาครัฐควรแก้ไข นอกจากจะได้ไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้แล้ว ยังสามารถจัดการขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย" นายพิชัย กล่าว

 

ทั้งนี้ ล่าสุด ส.อ.ท.ได้ทำการตรวจสอบโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ยังค้างในขั้นตอนการพิจารณาขอความเห็นของ สคร.จำนวน 23 โครงการ รวมกำลังผลิตเฉลี่ยแห่งละ 6 เมกะวัตต์ เช่น พื้นที่ จ.นทบุรี ปริมาณขยะที่ 1,200 ตันต่อวัน เป็นขยะบ่อฝังกลบ 5.9 ล้านตัน, จ.สุราษฎร์ธานี ปริมาณขยะ 170-200 ตันต่อวัน เป็นขยะบ่อฝังกลบ 200,000 ตัน, จ.นครปฐม ปริมาณขยะ 200-300 ตันต่อวัน เป็นบ่อฝังกลบ 500,000 ตัน และ จ.นครศรีธรรมราช ปริมาณขยะ 300 ตันต่อวัน เป็นบ่อฝังกลบ 1.1 ล้านตัน

 

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่ที่เสนอโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงขยะใน จ.นครราชสีมา, นครสวรรค์, เชียงใหม่, ลำพูน, สมุทรปราการ, สุโขทัย, ปราจีนบุรี, ลำปาง, ชุมพร, ตรัง, สงขลา, ระยอง, ชลบุรี, ปทุมธานี, ยะลา, เชียงราย, ประจวบคีรีขันธ์, พิษณุโลก, สระแก้ว และยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาความเหมาะสมเพิ่มเติมอีกด้วย

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics