ENERGY

โรงไฟฟ้าชีวมวลขุนตัดหวาย ต้นแบบโมเดล PPPP
POSTED ON 13/11/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - บริษัท พรีไซซ เพาเวอร์ โปรดิวเซอร์ จำกัด, บริษัท ราชบุรีพลังงาน จำกัด และ สหกรณ์ออมทรัพย์อัศศิดดีก จำกัด ได้ร่วมกันจัดตั้ง บริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด ขึ้น เพื่อดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าหมุนเวียนขนาดเล็กมาก (Very Small Power Producer : VSPP) ที่บ้านขุนตัดหวาย หมู่ที่ 3 ต.ขุนตัดหวาย อ.จะนะ จ.สงขลา โดยโรงไฟฟ้าชีวมวลขุนตัดหวายจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้า 9.9 เมกะวัตต์ และใช้เศษไม้ยางพาราเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

 

นายณรงค์ศักดิ์ วิเชษฐ์พันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สงขลาไบโอแมส จำกัด กล่าวว่า "โรงไฟฟ้าถูกออกแบบมาเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยการใช้เศษไม้ยางพาราซึ่งเป็นวัตถุดิบที่หาได้ในท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่มีธาตุกำมะถันต่ำ ทำให้ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ในปริมาณต่ำ และด้วยการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในการเผาไหม้ในปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยลดปริมาณก๊าซไนโตรเจนออกไซด์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องดักฝุ่นละอองโดยการใช้ระบบไฟฟ้าสถิต (ESP) ซึ่งจะมีประสิทธิภาพในการกำจัดฝุ่นได้มากถึงร้อยละ 99 ช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองที่ออกมาจากปล่องโรงไฟฟ้าก่อนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ"

 

"สำหรับการใช้น้ำในโครงการทั้งหมดจะมาจากแหล่งน้ำสาธารณะ โดยจะสูบน้ำมาเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำของโครงการ บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ เพื่อใช้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำของชุมชน ส่วนน้ำเสียที่เกิดขึ้นจากขั้นตอนการผลิตจะถูกระบายลงบ่อพักน้ำ โดยจะถูกปรับปรุงคุณภาพน้ำให้อยู่เกณฑ์มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ก่อนที่จะปล่อยลงสู่ลำคลอง ทั้งนี้ เรามั่นใจว่าน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตจากโรงไฟฟ้าจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม" นายณรงค์ศักดิ์ กล่าว

 

สำหรับกากของเสียที่เกิดขึ้นจากกระบวนการผลิตซึ่งจะมีขี้เถ้าและส่วนที่เผาไหม้ไม่หมด จะถูกนำไปฝังกลบในพื้นที่ของโครงการ หรือนำไปใช้เป็นปุ๋ย วัสดุปรับปรุงดิน ในพื้นที่การเกษตรของโครงการ หรือนำไปกำจัดภายนอกตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งในการผลิตไฟฟ้าจะมีเสียงดัง จึงมีการควบคุมระดับความดังของเสียง โดยมีการติดตั้งอุปกรณ์ลดเสียง เพื่อให้ระดับเสียงตามมาตรฐานที่กำหนดอีกด้วย

 

นายกิตติ สัมฤทธิ์ ประธานกรรมการ บริษัท พรีไซซ คอร์เปเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า "โครงการดังกล่าวได้มีการนำเอาแนวคิด PPPP Model เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โดยแนวคิด PPPP Model คือการสร้างความร่วมมือของทุกฝ่าย (Partnership) ทั้งภาครัฐ (Public) ภาคเอกชน (Private) และชุมชน (People) เพื่อสร้างความมั่นคง ความยั่งยืน สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนด้านการเกษตรอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม พร้อมกับการเติบโตไปพร้อมๆ กันของทุกภาคส่วน และเป็นที่ยอมรับของชุมชน และสังคม"

 

โดยจุดประสงค์ของโมเดลนี้วางไว้ 3 ระดับ คือ (1) ระดับประเทศ คือ การสร้างต้นแบบ PPPP Model ให้เติบโตยั่งยืน มีสมรรถนะสูง ผสานประโยชน์สุขของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและพัฒนาร่วมกัน โดยมีการบริหารแบบธรรมาภิบาล ด้วยตัวอย่างเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (2) ระดับพื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอ เป็นการเสนอโครงการนำร่องของเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (Bio Economy) จากยางพารา ด้วยแนวคิดที่ว่า เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์จากการปลูก แปรรูป และการตลาดครบวงจร ทั้งซัพพลายเชน การผสมผสานอุตสาหกรรมนิเวศชีวมวลแบบครบวงจร และการกำจัดความสูญเสียในระบบการผลิต และ (3) ระดับชุมชนขุนตัดหวาย เป็นการสร้างตัวอย่างรูปแบบ Smart Community ของชุมชนที่จะก้าวไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะก่อตั้งศูนย์พัฒนาอุตสาหกรรมระดับตำบล ศูนย์พัฒนาเกษตรกรรม และศูนย์พาณิชยกรรมตำบล"

 

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics