ENERGY

วอน BOI มอบสิทธิพิเศษเพิ่มให้กลุ่มโซลาร์ลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
POSTED ON 15/10/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นสพ.ประชาชาติธุรกิจ รายงานข่าวเมื่อวันที่ 13 ต.ค.2558 ที่ผ่านมาต่อกรณีที่นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การเข้ามาลงทุนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษของไทยถือเป็นสัญญาณการลงทุนที่ดี แต่สิ่งที่เอกชนต้องการให้ภาครัฐช่วยผลักดันคือ ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ ที่จัดอยู่ในกลุ่ม A2 กิจการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อพัฒนาประเทศ ตามการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดถึง 8 ปี (แบบจำกัดวงเงิน) เท่านั้น

 

"บีโอไอ ควรพิจารณาให้โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกับในกลุ่ม A1 ที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี (แบบไม่จำกัดวงเงิน) หรือเป็นกิจการในเป้าหมายของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี (ไม่จำกัดวงเงิน) และได้รับลดหย่อนภาษีนิติบุคคลร้อยละ 50 อีก 5 ปี ซึ่งนั่นจะส่งผลให้ภาคเอกชนในธุรกิจนี้สนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น" นายวัลลภ ระบุ

 

ในกรณีที่บีโอไอไม่รับพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวของเอกชนเพื่อให้ธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับสิทธิประโยชน์ในกลุ่ม A1 นั้น อาจจะพิจารณาให้เข้าไปในกลุ่มกิจการเป้าหมายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งกลุ่ม A2 ยังคงได้สิทธิประโยชน์จากกระทรวงการคลังในเรื่องของมาตรการภาษีสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษ ให้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีนิติบุคคลจากปกติร้อยละ 20 เหลือร้อยละ 10 เป็นเวลา 10 ปี จะส่งผลดีต่อความต้องการลงทุนในพื้นที่ได้

 

ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการพิจารณาของบีโอไอว่าจะดูเพื่อประโยชน์ในภาพรวม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่ เพราะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษยังคงมีข้อจำกัดในเรื่องของระบบสาธารณูปโภคด้วย หากต้องการดึงการลงทุนก็ต้องส่งเสริมหรือมีเงื่อนไขการลงทุนที่น่าสนใจ

 

นายวัลลภ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แม้แต่ในอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแต่ละประเภทถูกจัดในกลุ่มที่ได้รับสิทธิประโยชน์ที่แตกต่างกัน พลังงานทดแทนอื่นๆ ที่นอกเหนือจากพลังงานแสงอาทิตย์จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม A1 ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุด 8 ปี ไม่ว่าจะลงทุนในพื้นที่ใดก็ตาม ในขณะนี้พลังงานแสงอาทิตย์มีสิทธิประโยชน์ที่ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร็วๆ นี้กระทรวงพลังงานเตรียมที่จะเปิดประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ภาคตะวันออก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการเข้าไปลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากกว่า เพราะราคาที่ดินไม่สูงมาก

 

รายงานข่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) เมื่อเร็วๆ นี้ยังไม่มีการนำเสนอประเด็นของกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ที่ต้องการเสนอชื่อธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์ให้เข้าไปอยู่ในกลุ่มกิจการเป้าหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เนื่องจากต้องรอการหารือร่วมกับบีโอไอก่อน

 

ก่อนหน้านี้ นายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. ได้ออกมาระบุว่า ภาคอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนมีความพร้อมที่จะเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และอีก 4 อำเภอในจังหวัดสงขลา เนื่องจากมองว่าพื้นที่นี้มีศักยภาพด้านพลังงานทดแทน ทั้งพลังงานลม พลังงานชีวมวล และก๊าชชีวภาพ ที่จะผลิตพลังงานทดแทนเทียบเท่าโรงไฟฟ้า 300 เมกะวัตต์, ชีวมวลอัดแท่งที่จะผลิตได้ 10,000 ตันต่อปี ผลิตไฟฟ้าได้ 200 เมกะวัตต์ รวม 500 เมกะวัตต์ คาดจะมีมูลค่าลงทุน 40,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานชีวมวลที่มีสูงถึง 50 เมกะวัตต์ สูงกว่าที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) อนุมัติที่ 30 เมกะวัตต์

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics