ENERGY

เร่งพัฒนาระบบไฟฟ้าในเขตเศรษฐกิจพิเศษ
POSTED ON 15/10/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะทำงานจัดทำแผนงานพัฒนาระบบไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้ร่วมกับ 3 การไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จัดทำ "แผนพัฒนาระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ" ขึ้น

 

โดยแผนงานดังกล่าวแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) การขับเคลื่อนโครงข่ายไฟฟ้าอาเซียน (ASEAN Power Grid - APG) ได้แก่ การก่อสร้างระบบสายส่งแรงสูงขนาด 500 กิโลโวลต์ เพื่อเพิ่มความสามารถของระบบสายส่งไฟฟ้าให้เกิดความคล่องตัว และเกิดการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน และ (2) การพัฒนาระบบไฟฟ้ารองรับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พิเศษ (Special Economic Zone - SEZ) ซึ่งจำเป็นต้องมีสายส่งแรงสูง ทั้งระบบ 230 กิโลโวลต์ และ 115 กิโลโวลต์ และระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางพื้นที่ เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเติบโตของระบบเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยระยะแรกมีจำนวน 6 พื้นที่ ได้แก่ อ.แม่สอด จ.ตาก, อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว, อ.คลองใหญ่ จ.ตราด, อ.เมือง จ.มุกดาหาร, อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.เมือง จ.หนองคาย

 

นอกจากนี้ ในแผนดังกล่าวได้ประมาณการรวมไปถึงแนวทางการพัฒนาสายส่งที่จำเป็นต้องเชื่อมโยงไปยังเมืองคู่แฝดทางประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อรองรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศ โดยจะต้องมีการศึกษาและพิจารณาถึงศักยภาพและความเป็นไปได้ของการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างประเทศผ่านโครงข่ายที่มีอยู่เดิมของประเทศ รวมถึงวางแผนก่อสร้างสายส่งเชื่อมโยงระหว่างเมืองคู่แฝด อาทิ จากแม่สอด ไปยัง เมืองเมียวดี (หรือไปยัง ผาอ้น) ประเทศเมียนมาร์, จากหนองคาย ไปยัง นครหลวงเวียงจันทน์ สปป.ลาว, จากคลองใหญ่ ไปยัง จ.เกาะกง ประเทศกัมพูชา เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ในส่วนของระบบผลิตไฟฟ้านั้น สนพ. รับทราบว่ามีเอกชนที่ให้ความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษเป็นจำนวนมาก ทางกระทรวงพลังงานจึงเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับแนวทางดังกล่าว โดยนอกจากความพร้อมในด้านระบบสายส่งแล้ว ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่จะต้องพัฒนาให้เข้าสู่ระบบใหม่ให้เป็นรูปแบบประเภทสัญญาที่มีข้อกำหนดระยะเวลา ปริมาณซื้อขายที่แน่นอน และอาจเป็นระบบแบบผสมผสานที่สามารถจ่ายไฟได้ต่อเนื่องตลอดเวลา เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น

 

นอกจากจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว ยังช่วยเพิ่มความมั่นคงทางด้านพลังงานไฟฟ้า ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงฟอสซิล และถ้าประเทศไทยมีไฟฟ้าเหลือในบางเวลา อาจสามารถขายไฟส่วนที่เหลือไปยังประเทศเพื่อนบ้านในพื้นที่ที่ยังมีความต้องการไฟฟ้าสูง หรือไปยังเมืองคู่แฝดในประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เป็นระบบประเภทสัญญาที่ไม่มีข้อกำหนดระยะเวลา ปริมาณซื้อขายที่แน่นอน เสี่ยงต่อการไฟตกไฟดับ และถ้าหากมีเขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้น ต้องมีการปรับปรุงระบบสายส่งไฟฟ้าให้ได้ภายในปี 2565 เพื่อรองรับการลงทุนในระบบผลิตไฟฟ้าให้ทันกับการขยายตัวของเขตเศรษฐกิจพิเศษ

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics