ENERGY

กลุ่มโรงกลั่นฯ เสนอรัฐทบทวนสำรองน้ำมันตามกฎหมาย
POSTED ON 23/09/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นฯอยู่ในระหว่างหารือกับกระทรวงพลังงาน โดยขอให้ทบทวนเรื่องสำรองน้ำมันและราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่รับซื้อจากโรงกลั่นที่เป็นอัตราต่ำ และไม่เป็นธรรมเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนนำเข้าน้ำมันดิบ

 

"ราคาแอลพีจีที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้รับซื้อจากโรงกลั่นฯอยู่ที่ราคาตะวันออกกลาง (ซีพี) ติดลบ 20 ดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นราคาที่คำนวณเปรียบเทียบจากการที่โรงกลั่นฯต้องส่งออกแอลพีจี แต่ข้อเท็จจริงคือโรงกลั่นฯไม่ได้ส่งออกแอลพีจีมานานแล้ว และประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าแอลพีจี ในขณะที่โรงกลั่นมีต้นทุนสูงในการนำเข้าน้ำมันดิบเข้ามากลั่น ดังนั้น ราคาจำหน่ายแอลพีจีก็ควรจะเป็นราคาเสรี หรือแข่งขันกับราคานำเข้า โดยน่าจะเป็นราคาเดียวกับราคาซีพีก็เพียงพอแล้ว ไม่ต้องบวกค่าขนส่งแต่อย่างใด" นายสุกฤตย์ กล่าว

 

ส่วนเรื่องสำรองน้ำมันตามกฎหมายนั้น กลุ่มโรงกลั่นฯ เห็นว่า กระทรวงพลังงานน่าจะปรับแนวทางใหม่ โดยโรงกลั่นฯและผู้ค้าน้ำมันมาตรา 7 สำรองในสัดส่วนที่เท่ากัน จากที่ปัจจุบันทางกระทรวงพลังงานลดสำรองน้ำมันผู้ค้าน้ำมันจากร้อยละ 6 เหลือร้อยละ 1 และคงสำรองของโรงกลั่นในอัตราร้อยละ 6 โดยอัตราที่ควรจำเป็นคือ เมื่อรวมแล้วสำรองของทั้ง 2 ส่วน เท่ากับร้อยละ 7 ดังนั้น ผู้ค้าน้ำมันและโรงกลั่นควรสำรองในสัดส่วนที่ร้อยละ 3.5

 

นายสกฤตย์ ระบุว่า "กลุ่มโรงกลั่นเห็นว่าสำรองน้ำมันควรจะอยู่ในอัตราเท่ากันระหว่างผู้ค้าและโรงกลั่น เพราะหากเกิดสงครามในแหล่งผลิตน้ำมันดิบ ขนส่งน้ำมันดิบไม่ได้ ประเทศจะได้มีน้ำมันสำเร็จรูปสำรองไว้เพียงพอ เพื่อรอการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป โดยสำรองน้ำมันทุกร้อยละ 1 จะมีปริมาณเพียงพอต่อการใช้ 3.6 วัน หากสำรองกฎหมายรวมกันเป็นร้อยละ 7 ก็จะมีใช้ถึง 25.2 วัน ก็คาดหวังกระทรวงพลังงานจะพิจารณาทบทวนเพื่อความมั่นคงของประเทศ"

 

"ในส่วนของแผนน้ำมันระยะยาว (Oil Plan 2558-2579 ) ที่กระทรวงพลังงานประเมินว่าโรงกลั่นน้ำมันของไทยไม่จำเป็นต้องก่อสร้างใหม่นั้น จากปัจจุบันมี 5 โรงกลั่นฯ กำลังผลิต 1 ล้านบาร์เรล/วันนั้น เป็นเรื่องที่กลุ่มโรงกลั่นเห็นด้วย เพราะเป็นไปตามทิศทางการส่งเสริมพลังงานทดแทน ที่มีการใช้เอทานอลและไบโอดีเซล ดังนั้น การใช้น้ำมันก็จะไม่ได้เพิ่มขึ้น และการส่งออกก็จะอยู่ในสัดส่วนร้อยละ 10-20  ซึ่งก็เป็นไปได้ที่การใช้น้ำมันภาพรวมใน 20 ปีข้างหน้าจะเป็นไปตามที่กระทรวงพลังงานคาดที่ 9 แสนบาร์เรล/วัน" นายสกฤตย์ กล่าว

 

ด้าน นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน กล่าวว่า "การลดสำรองน้ำมันของผู้ค้ามาตรา 7 เป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้ว เพราะหากประเมินภาวะน้ำมันของตลาดโลก น้ำมันที่ล้นความต้องการและราคาต่ำ หากเกิดปัญหาขาดแคลน ประเทศไทยก็สามารถสั่งนำเข้าได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ทางภาครัฐก็พร้อมรับฟังข้อเสนอเอกชน"

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics