ENERGY

ระยะเวลาดำเนินการสั้น ทำแบงค์ไม่ปล่อยกู้โครงการโซลาร์ฟาร์ม
POSTED ON 18/09/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายภูวดล สุนทรวิภาต เลขาธิการสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงเติบโต สวนกระแสกับภาวะเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนธุรกิจและส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ โดยยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบและการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าเป็น FiT 5.66 บาทต่อหน่วย (ณ เมษายน พ.ศ.2558) ตลอดระยะเวลา 25 ปี เป็นต้น เพื่อให้เป็นไปตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกฉบับใหม่ โดยได้กำหนดเป้าหมายติดตั้งรวมไว้ทั้งสิ้น 6,000 เมกะวัตต์ ภายใน 20 ปี คาดว่าภายใน 5 ปี การรับซื้อน่าจะได้ตามเป้าที่วางไว้

 

"ขณะนี้ภาพรวมโครงการโซลาร์มีแผนทั้งก่อสร้างแล้ว กำลังก่อสร้างและกำลังเปิดโครงการ คือ โซลาร์ราชการ-สหกรณ์ รวมประมาณ 4,000 เมกะวัตต์ เหลืออีก 2,000 เมกะวัตต์ ไม่รู้ว่าภาครัฐจะเปิดเมื่อใด ซึ่งควรจะเปิดใน 2 ปีนี้ เพราะต้องใช้เวลาในการเตรียมโครงการและควรเปิดเป็น FiT Bidding อัตรา 4-5 บาทต่อหน่วย ขณะที่โซลาร์รูฟท็อปไม่ควรอยู่ในโควตานี้และควรเปิดเสรี" นายภูวดล กล่าว

 

นายภูวดล กล่าวเพิ่มเติมว่า "ในส่วนของโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์และราชการที่เปิดรอบแรก 600 เมกะวัตต์ และต้องสร้างเสร็จพร้อมส่งมอบไฟฟ้าเดือน ก.ย.2559 นั้นถือเป็นระยะเวลาที่สั้นมาก ควรจะเลื่อนออกไปก่อน และคาดว่าน่าจะประสบปัญหาด้านเงินทุน เพราะธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยกู้ ส่วนโซลาร์ฟาร์มค้างท่อ 1,075 เมกะวัตต์นั้น เหตุที่ธนาคารไม่ปล่อยกู้ เพราะช่วงระยะเวลาในการดำเนินการสั้น ธนาคารจึงมองว่ามีความเสี่ยงที่จะทำไม่ทัน และถูกยกเลิกสัญญา ทำให้โครงการต่างๆ ต้องหาช่องทางหาเงินลงทุน เช่น บางโครงการตกลงกับผู้รับเหมาจ่ายเงินหลังโครงการเสร็จ 2-3 เดือน และนำโครงการที่ขายไฟฟ้าไปขอเงินกู้จากแบงก์มาจ่ายเงิน ข้อเสีย คือ จะต้องมีดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มด้วย"

 

สำหรับตลาดการใช้พลังงานแสงอาทิตย์นั้น ส่วนแรกที่เป็นส่วนติดตั้งบนหลังคาของรัฐบาล ซึ่งเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไปแล้วในเดือน มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา โดยมีต้นทุนการติดตั้ง 1 กิโลวัตต์ ประมาณ 60,000-70,000 บาท ใช้พื้นที่ประมาณ 8-10 ตารางเมตร ระยะเวลาคืนทุนประมาณ 8 ปี ขณะที่ส่วนที่ 2 ซึ่งเป็นการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ภาคครัวเรือนนั้น มีต้นทุนค่าใช้จ่ายใกล้เคียงกัน แต่ขนาดกำลังวัตต์อาจจะแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะพื้นที่ โดยบ้านทั่วไปใช้พื้นที่ติดตั้งประมาณ 30 ตารางเมตร กำลังไฟ 3-5 กิโลวัตต์ คิดเป็นต้นทุนประมาณ 200,000-350,000 บาท เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าร้อยละ 20-30 ของทั้งบ้าน

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, โลจิสติกส์, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy, Logistics