ENERGY

นักวิจัย ชี้ เอกชนยังมองว่า "ชีวมวล" ลงทุนสูง ไม่คุ้มค่า
POSTED ON 19/08/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - เมื่อเร็วๆ นี้ โครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดการประชุมเวที สกว. (TRF Forum) เรื่อง "พืชพลังงาน : จากงานวิจัยสู่นโยบาย" ขึ้น ณ โรงแรม เดอะสุโกศล กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอข้อมูล ข้อค้นพบ และข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้จากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการใช้ชีวมวลพลังงาน การสร้างมาตรฐานชีวมวลกลางของประเทศ รวมทั้งการอภิปรายในประเด็นที่เกี่ยวกับปัญหาความท้าทาย โอกาสของภาคเกษตรไทยในการใช้ชีวมวล และนโยบายที่จะนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานชีวมวลในอนาคต

 

ดร.บุญรอด สัจจกุลนุกิจ นักวิจัย สกว. และอาจารย์จากบัณฑิตวิทยาลัยร่วม ด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม และศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า พลังงานชีวมวลเป็นพลังงานที่หลายคนมองว่าลงทุนแล้วได้ไม่คุ้มเสีย แต่หากมองถึงประสิทธิภาพ นับได้ว่าพลังงานชีวมวลมีจุดเด่นที่สามารถใช้ประโยชน์ในการเป็นพลังงานทดแทนได้ เพราะมีศักยภาพสูง สามารถกักเก็บพลังงานที่ตัวเชื้อเพลิง ช่วยลดมลภาวะจากน้ำเสียในอุตสาหกรรมการเกษตร และการเผาทำลายวัสดุคงเหลือทางการเกษตร  

 

ด้าน รศ.ดร.สุนีรัตน์ ฟูกูดะ นักวิจัย สกว. กล่าวว่า หากพูดถึงถึงพลังงานชีวมวลของไทย ปัจจุบันเรากำลังประสบปัญหาในหลายๆ ด้าน อย่างเช่น ในแง่ของวัตถุดิบ เรายังมีปริมาณวัตถุดิบไม่เพียงพอต่อการแปรรูปเป็นพลังงานตลอดปี แม้ราคาวัตถุดิบจะถูกกว่าพลังงานเชื้อเพลิง แต่หากบวกรวมค่าขนส่งแล้วจะพบว่ามีต้นทุนโลจิสติกส์สูงกว่า

 

สำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานชีวมวลเป็นวัตถุดิบ ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาด้านการลงทุน เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนที่ค่อนข้างสูงหากต้องการระบบที่มีประสิทธิภาพ เอกชนยังคงมองว่าว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน เนื่องจากไทยเรายังไม่มีต้นแบบที่ดีของการบริหารจัดการโรงไฟฟ้า กฎหมายและระเบียบต่างๆ ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน อีกทั้งมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยาก ขาดบุคลากรที่เข้าใจและเชี่ยวชาญในเทคโนโลยี

 

"ขณะที่ในด้านการกำกับและส่งเสริมจากภาครัฐนั้น โรงงานไม่มีแรงจูงใจที่จะใช้พลังงานชีวมวลในอุตสาหกรรมของตน เพราะรัฐไม่มีข้อบังคับในการปรับปรุงประสิทธิภาพระบบ และยังไม่มีมาตรฐานเชื้อเพลิง เช่น มาตรฐานน้ำมันไพโรไลซิสจากชีวมวล ขาดการประชาสัมพันธ์และสร้างความรู้ความเข้าใจต่อประชาชนที่มากพอ อีกทั้งในปัจจุบันงานวิจัยและพัฒนาพลังงานชีวมวลยังมีน้อยมาก ขาดการส่งเสริมจากระดับห้องปฏิบัติการไปสู่ระดับโรงงานต้นแบบสาธิตและเชิงพาณิชย์ อีกทั้งการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยังคงเป็นไปได้ยากอีกด้วย" รศ.ดร.สุนีรัตน์ กล่าว

 

Tags : อุตสาหกรรม, ข่าวอุตสาหกรรม, สื่ออุตสาหกรรม, โรงงาน, เครื่องจักรกล, การผลิต, พลังงาน, Industry, Industrial, Industrial News, Industrial Media, Factory, Machinery, Machine, Manufacturing, Energy