ENERGY

รมว.พลังงาน ยัน ไม่ถอนร่างกฎหมายปิโตรฯ ลุยเปิดสำรวจปิโตรเลียมในปีนี้
POSTED ON 15/07/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า กว่า 10 เดือนในกระทรวงพลังงาน งานที่หนักที่สุด คือ เรื่องเปิดสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 21 เพราะถูกคัดค้าน และต้องอธิบายให้เข้าใจถึงความจำเป็นเพื่อความมั่นคง จนต้องชะลอการเปิดสำรวจไป ทั้งยังมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้มีทางเลือกทั้งรูปแบบสัมปทานและพีเอสซี (ระบบแบ่งปันผลผลิต) ซึ่งในขณะนี้การแก้ไขกฎหมายได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งทางกระทรวงฯจะไม่ถอนร่างแก้ไข และขั้นตอนจากนี้ก็ต้องรายงานครม.และเสนอสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

 

ขณะที่เรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่นั้น นายณรงค์ชัย กล่าวว่า ก็เป็นเรื่องที่หนักใจ เพราะได้อธิบายถึงการป้องกันมลพิษในการมุ่งสู่การเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งตามแผนผลิตไฟฟ้าระยะยาวกำหนดว่าประเทศไทยจะมีถ่านหินในสัดส่วนประมาณร้อยละ 25 แต่ในขณะนี้ก็ยังมีผู้ต่อต้านเป็นจำนวนมาก

 

ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างราคาพลังงานที่ผ่านมาได้จัดทำเรื่องน้ำมันไปแล้วในขณะนี้กำลังพิจารณาเรื่องการขยับราคาเอ็นจีวีให้ลอยตัวจะดำเนินการภายในปีนี้ โดยดูช่วงราคาต้นทุนที่ต่ำที่สุดจากที่ขณะนี้ราคาไม่ถึง 15 บาทต่อกิโลกรัม และราคาขายปลีกอยู่ที่ 13 บาทต่อกิโลกรัม และราคารถสาธารณะ เช่น รถเมล์ แท็กซี่ ขายอยู่ที่ 10 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งที่ผ่านมาได้พูดคุยกับกระทรวงคมนาคม และได้รับการร้องขอว่าค่าโดยสารและราคาเอ็นจีวีจะขยับไปด้วยกัน แต่เมื่อค่าแท็กซี่ไม่ขยับ ทางกระทรวงฯก็อาจจะขยับราคาเอ็นจีวีไปก่อน ในขณะที่ภาษีสรรพสามิตแอลพีจีที่จะยับขึ้นนั้นก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงการคลังจะพิจารณา

 

"ในเรื่องการประกาศรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์ม สหกรณ์และหน่วยราชการจะประกาศรับซื้อในเดือน ส.ค.2558 นี้ และปิดรับซื้อเดือน ต.ค.2558 แบ่งเป็น ส่วนของสหกรณ์ 400 เมกะวัตต์ และราชการ 400 เมกะวัตต์ ส่วนโครงการคลังรับแอลเอ็นจีชั่วคราวในเมียนมาร์ซึ่งจะมีความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศนั้น ล่าสุดคาดว่าจะสร้างคลังที่พื้นที่ทวายหลังจากที่ญี่ปุ่นพร้อมที่จะร่วมทุนโครงการทวายทำให้มีความต้องการใช้ก๊าซในพื้นที่ด้วย" รมว.พลังงาน กล่าว

 

การบริหารจัดการเรื่องพลังงาน มีเรื่องหลักคือ เชื้อเพลิงกับไฟฟ้า ซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน กระทรวงพลังงานจึงต้องจัดการโครงสร้างของทั้ง 2 เรื่องให้มีความแข็งแรงมั่นคง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องยืดหยุ่นพอสมควร เพื่อปรับเปลี่ยนและรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศได้

 

ด้าน นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยันร่างกฎหมายปิโตรเลียมที่ ครม.ได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พ.ค.2558 และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วนั้น ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติและเวทีเสวนาสาธารณะหลายครั้ง พร้อมเน้นย้ำว่าประเทศจำเป็นต้องเร่งจัดหาพลังงาน หากบังคับแก้ไขสัญญาก่อนสิ้นสุดอายุสัมปทานจะส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุน

 

โดยเป้าหมายสำคัญของการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียมครั้งนี้  คือต้องการเพิ่มทางเลือกในการเปิดให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบใหม่ (รอบที่ 21) เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาใช้ระบบสัมปทาน Thailand III+ หรือระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) หรือทั้ง 2 ระบบก็ได้ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการสำหรับแปลงสำรวจที่จะเปิดให้มีการลงทุนโดยเอกชน ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงทางพลังงานในการจัดหาปิโตรเลียมของประเทศ

 

การบริหารจัดการที่จะนำมาใช้ไม่ว่าจะเป็นระบบสัมปทานหรือทำสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ขอยืนยันว่าทั้ง 2 ทางเลือกไม่สามารถเจรจาโดยไม่เปิดเผยได้ เพราะต้องเปิดเผยผ่านการออกประกาศเชิญชวนรอบใหม่ เพื่อให้เกิดการแข่งขันยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุด และต้องไม่ต่ำกว่าผลประโยชน์ขั้นต่ำตามที่กำหนดในกฎหมาย ซึ่งระบบนี้มีความโปร่งใสและเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญอำนาจในการตัดสินใจสุดท้ายในการให้สิทธิ์เอกชนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นของ ครม.มิใช่เป็นของ รมว.พลังงาน

 

ข้อกล่าวอ้างว่าร่างกฎหมายดังกล่าว ได้กำหนดให้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตเปิดให้เอกชนสามารถหักได้ในอัตราร้อยละ 50 ทั้งหมด และส่งผลให้ประชาชนเสียผลประโยชน์นั้น  ข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวคือ กำหนดให้สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริง โดยไม่เกินร้อยละ 50 ของผลผลิตรวมปิโตรเลียม (คำนวณจากการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมทั้งหมด) ในกรณีที่มีค่าใช้จ่ายไม่ถึงร้อยละ 50 ก็หักได้เท่ากับค่าใช้จ่ายตามจริงเท่านั้น  (ต้องเป็นค่าใช้จ่ายตามแผนงานและงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ)

 

สำหรับประเด็นที่เสนอให้รัฐบาลแก้ไขสัญญาและขอเข้าไปในพื้นที่และถ่ายโอนสิทธิก่อนสิ้นสุดอายุล่วงหน้า 5 ปี เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ และการดังกล่าวยังส่งผลกระทบและเป็นภัยระหว่างประเทศในด้านการลงทุนอีกด้วย และ พ.ร.บ.ปิโตรเลียมที่เสนอโดย คปพ. เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ส่งเสริมการลงทุน ไม่สอดคล้องกับศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศไทย และระบบการจัดเก็บรายได้มิได้เพิ่มสัดส่วนรายได้ของรัฐแต่อย่างใด

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย (http://www.tnamcot.com/content/231953)