ENERGY

ปตท.แนะ ให้รายเดิมผลิตก๊าซฯต่อใน 2 แหล่งที่จะหมดสัมปทาน
POSTED ON 03/06/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน กล่าวภายหลังการเยี่ยมชมงาน World Gas Conference 2015 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างให้บริษัทเอกชนผู้เชี่ยวชาญเรื่องการสำรวจปิโตรเลียมเข้ามาประเมินปริมาณก๊าซธรรมชาติของทั้ง 2 แหล่ง คือ แหล่งบงกชและแหล่งเอราวัณ ว่ามีปริมาณเท่าใด เพื่อเป็นข้อมูลไปเจรจากับผู้ที่ได้รับสัมปทานรายเดิมหรืออาจเป็นรายใหม่ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยสาเหตุที่ต้องรอช่วงไตรมาส 4 เนื่องจากต้องรอให้การแก้ไข พรบ.ปิโตรเลียม แล้วเสร็จก่อน

 

ด้าน นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า รัฐบาลซึ่งอาจเป็นกระทรวงการคลังควรเข้าไปถือหุ้นในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียม 2 แหล่ง คือ บงกช ที่ดำเนินการโดย บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม กับแหล่งเอราวัณ ที่ดำเนินการโดยเชฟรอน เนื่องจากเป็นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะสามารถลงทุนต่อเนื่อง จากที่สัมปทานทั้ง 2 แหล่งจะหมดอายุลงในปี 2565-2566 หากไม่เร่งดำเนินการก๊าซไทยจะขาดอย่างหนัก ส่งผลต้องนำเข้าก๊าซแอลเอ็นจีมาทดแทน กระทบค่าไฟฟ้า 85-90 สตางค์ต่อหน่วย เพราะทั้ง 2 แหล่งมีกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ 2,200 ล้านลูกบาศก์ต่อวัน หากหยุดผลิตก๊าซของไทยจะเหลือเพียง 500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

 

"ควรให้รายเดิมผลิตก๊าซต่อ แล้วรัฐเข้าไปถือหุ้นใหญ่ในแหล่งผลิตจะได้ผลตอบแทนแก่ประเทศมากขึ้น การลงทุนไม่สะดุด เพราะหากใช้แนวคิดรัฐตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติแห่งใหม่เข้าไปบริหารจัดการ จะเกิดปัญหาตามมาในการผลิต เพราะไม่มีบุคลากรที่จะเข้าไปลงทุนและต้องลงทุนสูงในการสำรวจและผลิตกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี" นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

 

นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวด้วยว่า "สำหรับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 นั้นต้องมีความชัดเจนภายในปีนี้ว่าจะต่ออายุสัมปทานให้แก่เอกชนรายเดิมหรือรัฐจะเป็นผู้ดำเนินการขุดสำรวจเอง เพื่อรักษากำลังการผลิตปิโตรเลียมให้อยู่ในระดับเดิม และไม่มีความจำเป็นต้องก่อสร้างโรงแยกก๊าซแห่งใหม่ เนื่องจากปริมาณก๊าซในประเทศที่พิสูจน์ได้เหลือพอใช้อีก 6 ปีครึ่งเท่านั้น ขณะที่อายุสัมปทานเหลือเพียง 7 ปี"

 

ด้าน นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ปัจจุบันปริมาณสำรองปิโตรเลียมของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การจัดหาแหล่งก๊าซฯใหม่ๆ ในประเทศนั้นทำได้ยากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้น รวมถึงการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมและภาคขนส่ง ซึ่งหันมาใช้ก๊าซธรรมชาติในรถยนต์ (NGV) มากขึ้น ปตท.จึงต้องเร่งจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอเพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะไม่สะดุดจากภาวะขาดแคลนพลังงานภายใต้สถานการณ์ที่ประเด็นสัมปทานปิโตรเลียมและแผนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ล้วนยังไม่มีความชัดเจน ซึ่งการนำเข้าแอลเอ็นจีจึงมีส่วนสำคัญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในระยะยาว"

 

จากการคาดการณ์ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในประเทศไทยในปีนี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 4,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และประมาณการณ์ว่าจะมีอัตราเติบโตของการใช้ก๊าซฯเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 3-4

 

ปัจจุบันการจัดหาก๊าซฯประกอบด้วยการจัดหาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ โดยการนำเข้าจากสหภาพพม่า ปตท. ได้นำเข้าแอลเอ็นจีตั้งแต่ ปี 2554 ทั้งนี้ เพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการจัดหาก๊าซธรรมชาติในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ ขณะที่ปริมาณสำรองของแหล่งก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ โดยในปี 2557 จัดหาก๊าซธรรมชาติรวม 4,691 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศ 3,657 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และการนำเข้า 1,034 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นสัดส่วนการจัดหาจากแหล่งในประเทศและต่างประเทศ ร้อยละ 78 : 22

 

จากแหล่งพลังงานในประเทศที่มีจำกัด กลุ่ม ปตท. จึงใช้เวทีประชุมก๊าซฯโลก เพื่อแสวงหาโอกาสและพันธมิตรทางธุรกิจในการร่วมกันจัดหาก๊าซธรรมชาติ รองรับความต้องการใช้ของไทย โดยมีเป้าหมายในการเจรจากับคู่ค้าสำคัญเพื่อวางแผนจัดหาแอลเอ็นจีในระยะยาว อาทิ การพูดคุยกับบริษัท เชฟรอน ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ในวงการพลังงานโลก รวมถึงการขยายความร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มของกาตาร์ก๊าซฯ (Qatargas) ซึ่ง ปตท.เป็นพันธมิตรที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง

 

ภายใต้สัญญาที่มีในปัจจุบันนั้น กาตาร์ก๊าซก็ได้ทยอยจัดส่งแอลเอ็นจีระยะยาวให้ ปตท.จำนวน 2 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ผู้บริหารระดับสูงยังได้พบปะพูดคุยเจรจาทางธุรกิจกับ บริษัท ปิโตรนาส (Petronas) และ บริษัท เอ็นจี้ (Engie) ในการตกลงซื้อขายแอลเอ็นจีในอนาคต ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 บริษัทฯก็มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่ดีต่อกันกับกลุ่ม ปตท. โดยปิโตรนาสมีบริษัทลูกที่ร่วมทุนในโครงการ JDA ขณะที่เอ็นจี้ก็ถือหุ้นร้อยละ 40 ในบริษัท พีทีทีเอ็นจีดี ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท.

 

นอกจากนี้ กลุ่ม ปตท.ก็ยังแสวงหาพันธมิตรอื่นๆ ซึ่งอาจจะเข้ามาเสริมความแข็งแกร่งด้านเชื้อเพลิงแอลเอ็นจีโดยการจัดหาแหล่งแอลเอ็นจีระยะสั้น (ซื้อ/ขายในตลาด Spot หรือซื้อ/ขายเป็นครั้งๆ) จากแหล่งต่างๆ โดยในงานครั้งนี้ ปตท.ก็จะมีโอกาสเจรจาทางธุรกิจร่วมกับ บริษัท โททาล (Total) และ บริษัท เชลล์ (Shell)  อีกด้วย

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย (http://www.tnamcot.com/content/200090)