ENERGY

พบก๊าซธรรมชาติที่กาฬสินธุ์ ยันไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
POSTED ON 02/06/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตามที่ บริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับสัมปทานที่ได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมและได้เจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมหลุมดงมูล 5 ในแปลง L27/43 ในพื้นที่หมู่ 8 บ้านกุงเก่า ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์  โดยเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.2558 โดยมีแผนเจาะถึงระดับความลึก 3,012 เมตรนั้น เมื่อคืนวันที่ 30 พ.ค.2558 เวลา 23.30 น. ผลการขุดเจาะ พบก๊าซธรรมชาติที่ระดับความลึก 2,776 เมตร มีอัตราการไหลระหว่างการเจาะประมาณ 17 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งบริษัทฯได้เผาก๊าซธรรมชาติ (flare) ระหว่างการขุดเจาะเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัย

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อความโปร่งใสและความมั่นใจในทุกขั้นตอนของการดำเนินการ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจึงสั่งการให้บริษัทฯดำเนินการตามมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด รวมทั้งขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย โดยดำเนินการดังนี้

 

1. ให้บริษัทฯติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ โดยตรวจวัดก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ซึ่งนอกจากติดตั้งตามมาตรการป้องกันและแก้ไขสิ่งแวดล้อมในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบุว่า จะมีการติดตั้งสถานีตรวจวัดอากาศเพียงแค่ 2 จุดแล้ว เพื่อให้เกิดความมั่นใจลดข้อห่วงกังวลของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ บริษัทฯยังได้ดำเนินการติดตั้งสถานีตรวจวัดคุณภาพในทุกๆ ด้าน คือ อากาศ แสง เสียง เพิ่มเป็น 4 จุด

 

2. สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย มีการใช้เครื่องมือตรวจวัดคุณภาพด้านต่างๆ ตามมาตรฐานสากลแบบเคลื่อนที่ เพื่อตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานก่อนการดำเนินการ ระหว่างดำเนินการ และหลังดำเนินการ เพื่อติดตามตรวจสอบเปรียบเทียบข้อมูลสภาพแวดล้อมว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจะส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือไม่ อย่างไร

 

3. กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังได้ขอความร่วมมือกรมควบคุมมลพิษนำรถตรวจวัดคุณภาพอากาศดำเนินการตรวจวัดในพื้นที่ตลอดระยะเวลาดำเนินการโดยจะเริ่มตรวจวัดตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2558 จนถึงวันสิ้นสุดการทดสอบอัตราการไหล

 

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ ในการตรวจวัดฝุ่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) โดยทุกขั้นตอนจะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้แทนภาคประชาชนในพื้นที่ร่วมติดตามตรวจสอบด้วย และมีการเผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใสให้ประชาชนรับทราบและติดตามข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่งผลจากการตรวจสอบการเผาก๊าซครั้งแรกระหว่างช่วงเวลา 01.00 น.- 03.00 น. วันที่ 31 พ.ค.2558 พบว่า ไม่มีค่าเกินมาตรฐานแต่อย่างใด และไม่พบก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ (ก๊าซไข่เน่า) ตามที่ได้มีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มได้พยายามสร้างความเข้าใจผิดและก่อให้เกิดความกังวลแก่ประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องแต่อย่างใด

 

ที่มา : สำนักข่าวไทย (http://www.tnamcot.com/content/198463)