ENERGY

อดีตผู้ว่า กฟภ. แนะหารือกองทัพเรือขอใช้เกาะสร้างโรงไฟฟ้า
POSTED ON 06/02/2558


พลังงานอุตสาหกรรม - ประเด็นเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ยังคงมีปัญหามาตลอด มีตัวอย่างหลายครั้งจากอดีต เช่นเมื่อครั้งกรณีเกิดวิกฤตกระแสไฟฟ้าในภาคใต้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 ที่เกิดไฟดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและประชาชนเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้ เพราะพื้นที่ภาคใต้นั้นหลักๆ แล้วจะใช้ไฟฟ้าจากโรงงานผลิตไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ไฟฟ้าจากเขื่อนบางลาง และเขื่อนรัชประภา ซึ่งกำลังการผลิตยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ต้องจ่ายไฟสำรองจากภาคกลางเข้ามาเสริม

 

เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมาในพื้นที่ภาคใต้มีการใช้กระแสไฟฟ้ากว่า 2,400 เมกะวัตต์ และในปี 2558 นี้คาดจะมีการใช้ประมาณ 2,500 เมกะวัตต์ มีการประมาณการว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ภาคใต้จะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่มากกว่า 6,000 เมกะวัตต์ ดังนั้น การสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง

 

สำหรับปัญหาดังกล่าว นายวิบูลย์ คูหิรัญ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และอดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เคยหารือในที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ รวมทั้งให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าด้วยความห่วงใยเรื่องความมั่นคงของของระบบไฟฟ้า โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ผ่านมามีปัญหาและเกิดวิกฤตหลายครั้ง และยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต หากไม่ได้รับการป้องกันให้ได้ผล

 

ตัวอย่างอย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่แม้จะมีปัญหาด้านระบบสายส่งที่มีความสามารถที่ไม่ดีพอในการรองรับการส่งไฟฟ้าที่จะเพิ่มขึ้นเหมือนกัน แต่ในขณะนี้ก็กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไข เพียงแต่ต้องเร่งให้เร็วขึ้นเท่านั้น ส่วนปัญหาใหญ่จะอยู่ในภาคใต้มากกว่า ที่ยังไม่มีการกระจายโรงไฟฟ้ามาในภาคใต้มากนัก เนื่องจากมีกระแสการต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้ามาโดยตลอด จึงต้องมีการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ดังนี้

 

1. เพิ่มการประชาสัมพันธ์ให้มากยิ่งขึ้นจากที่ทำในปัจจุบัน ให้ประชาชนเข้าใจว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าขณะนี้ไม่พอรองรับความต้องการในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งเทคโนโลยีต่างๆ สำหรับโรงไฟฟ้าในปัจจุบันในการใช้ถ่านหินสะอาดเป็นเชื้อเพลิงนั้นสามารถควบคุมค่า Emission Factor ได้ดีกว่ามาตรฐาน และการขนส่งเชื้อเพลิงเข้าสู่โรงไฟฟ้าก็สามารถดูแลได้อย่างดีแล้ว

 

และต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าปัจจุบันไม่ว่าจะเกิดปัญหาขัดข้องของระบบสายส่งไฟฟ้าที่ไปภาคใต้หรือมีปัญหาที่อื่นนั้นจะทำให้ไม่สามารถส่งไฟฟ้าไปภาคใต้ได้ก็จะเกิดปัญหาทุกครั้ง ซึ่งตามข้อเท็จจริงแล้วหากมีปัญหาด้านพลังงานไฟฟ้าก็จะทำให้การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่มีปัญหาด้วย เพราะโครงการอุตสาหกรรมต่างๆ เมื่อจะไปตั้งที่ใดก็มักจะเข้าไปในที่ที่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคโดยเฉพาะไฟฟ้าที่เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนตั้งโครงการอุตสาหกรรม

 

2. จะต้องเร่งดำเนินการสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ที่ผ่านการทำ EIA และ EHIA เพื่อให้พร้อมในการจ่ายไฟอย่างเร่งด่วน เช่นในพื้นที่ จ.กระบี่ และ จ.สงขลา

 

3. เจรจาขออนุญาตกองทัพเรือเพื่อใช้เกาะที่มีอยู่ในอ่าวไทย เพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาด หรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ แล้วให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงระเบียบกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กำลังปรับปรุงอยู่ให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าโดยตรงได้รับผลตอบแทนตามความรุนแรงที่ได้รับผลกระทบ แทนที่จะใช้พัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวอย่างในปัจจุบัน